วันที่ 8 ก.พ. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เต็มคณะครั้งแรกหลังจากที่ว่างเว้นไประยะหนึ่ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยเลขาครม.แจ้งให้ที่ประชุมครม.ทราบถึงวาระการประชุมเรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ วาระที่ 3 ขอเลื่อนไปเป็นวาระสุดท้าย เนื่องจากเห็นว่าใช้เวลาหารือนาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเพราะถ้าเรื่องใหญ่จะใช้เวลาหารือนานและมักจะเลื่อนมาไว้ในช่วงท้ายการประชุม ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นการชี้แจงของกระทรวงมหาดไทยให้กระทรวงคมนาคมทราบเป็นครั้งที่ 10 แล้ว ส่วนครม. ถือเป็นครั้งที่ 3 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ส่งข้อสังเกตและข้อทักท้วงเข้ามาอีก 4 ข้อ
ทั้งนี้ที่ประชุมครม.มีการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวใช้เวลาพิจารณาวาระดังกล่าวนานถึงกว่า 40 นาที เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชนไม่ใช่เรื่องของเอกชนหรือของใคร ดังนั้นควรต้องตัดสินใจได้แล้วไม่เช่นนั้นจะเจอมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่มีอะไรเป็นการแก้สัญญาสัมปทาน ส่วนต่อขยายจากช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และกทม. ไม่ได้สร้างแต่การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เป็นคนสร้าง แต่กทม.ไม่มีเงิน แต่ถ้าจะให้รฟม.และกทม.ทั้งสองส่วนสร้างรวมกันมันก็บริหารจัดการไม่ได้ก็ต้องโอนมาให้กทม.บริหารจัดการ แต่เมื่อโอนรางก็ต้องโอนหนี้เข้ามาด้วย ซึ่งกทม.ไม่สามารถมีเงินจ่ายหนี้ 5 หมื่นกว่าล้านที่ตามมาได้ ทั้งค่าก่อสร้าง และค่าเดินรถ ซึ่งวันนี้ยังไม่มีการเก็บเงินในส่วนต่อขยายทั้งสองส่วน เมื่อกทม.ไม่มีเงินจ่ายก็มาเป็นภาระของรัฐบาลอีกซึ่งต้องมีดอกเบี้ยตามมาอีก ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการปรับสัมปทานโดยให้เอกชนมาใช้สัมปทานทั้งเส้น และเอกชนก็ต้องรับหนี้ในส่วนนี้ไปด้วย ซึ่งแบบนี้เป็นไปตามคำสั่งของคสช.เดิม ที่มองเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ที่อย่างไรก็จะต้องแก้ปัญหาและทำให้เกิดขึ้นจริงไม่เช่นนั้นก็จะแก้ปัญหาไม่ได้