“ดร.สามารถ” ขยายความ รถไฟฟ้าสีเขียว ทำไม”คมนาคม”แย้ง 8 ครั้ง ยังไม่จบ คาใจโยงสีส้มรฟม.โดนฟ้อง

"ดร.สามารถ" ขยายความ รถไฟฟ้าสีเขียว ทำไม"คมนาคม"แย้ง 8 ครั้ง ยังไม่จบ คาใจโยงสีส้มรฟม.โดนฟ้อง

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและท่าอากาศยาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ปมขยายสัมปทานสายสีเขียว “ปุจฉา-วิสัชนา” มาราธอน 8 ครั้ง ยังไม่จบ!

เป็นข่าวเกรียวกราวกรณี “คมนาคม” ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นโครงการของ กทม. ในสังกัด “มหาดไทย” ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทำให้ ครม. ต้องให้ “มหาดไทย” กลับไปทำคำชี้แจงเพิ่มเติมอีกครั้ง หลังจากชี้แจงไปแล้ว 8 ครั้ง !

1. ก่อน ส.ค. 2563 กระทรวงคมนาคม เคย “เห็นด้วย” 3 ครั้ง
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กระทรวงคมนาคมมีหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. ความว่า “เห็นสมควรที่จะนำเสนอ ครม. พิจารณาตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยและ กทม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 แล้ว ทั้งนี้ การให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เกิดผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ”

ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม 2563 และวันที่ 9 มิถุนายน 2563 กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึง เลขาธิการ ครม. ยืนยันตามความเห็นเดิมโดยไม่มีความเห็นเพิ่มเติม นั่นคือเห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยที่ขอให้พิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

2. หลัง ส.ค. 2563 (พ.ย. 2563) กระทรวงคมนาคม กลับลำ “ไม่เห็นด้วย” !
ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 กระทรวงคมนาคมกลับไม่ยืนยันความเห็นเดิม โดยมีความเห็นเพิ่มเติมหรือข้อสังเกต 4 ประเด็น ดังนี้
(1) ความครบถ้วนตามหลักการของ พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. 2562
(2) การคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ที่สมควรกำหนดให้ค่าโดยสารมีอัตราค่าบริการที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท
(3) การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
(4) ข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดจากกรณี กทม. ได้ทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถส่วนต่อขยายไปจนถึงปี พ.ศ. 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการ ปปช. จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจน

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นับจากวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา มีการถาม-ตอบ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงมหาดไทย/กทม. จนถึงก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นจำนวน 8 ครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมจาก 4 ประเด็นเดิม เช่น (1) การโอนกรรมสิทธิ์จาก รฟม. ซึ่งเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต ไปให้ กทม. ยังไม่สมบูรณ์ (2) การใช้ระบบตั๋วร่วม (ตั๋วใบเดียว) และ (3) กรอบระยะเวลาในการเจรจาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานระหว่าง กทม. กับ BTS เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 เป็นต้น
กระทรวงมหาดไทย/ กทม. ได้มีหนังสือชี้แจงข้อสังเกตและส่งข้อมูลตามคำขอของกระทรวงคมนาคมครบทั้ง 8 ครั้ง

ล่าสุดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อนการประชุม ครม. ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงคมนาคมมีหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของ กทม. พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม เป็นผลให้ ครม. ต้องเลื่อนพิจารณาวาระนี้ออกไปก่อน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปทำคำชี้แจง เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าของเรื่องเพิ่งเห็นข้อสังเกตเพิ่มเติมของกระทรวงคมนาคมในวันประชุม

3. มีอะไรเกิดขึ้นระหว่าง ส.ค. – พ.ย. 2563 ?
ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 รฟม. ในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้ BTS ซึ่งเป็นผู้ร่วมประมูลรายหนึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ? จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาเมื่อมีการล้มการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้ BTS ฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบอีกด้วย

BTS เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก และเป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ด้วยเหตุนี้ การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงมีผลโดยตรงกับ BTS
จึงน่าคิดว่าการที่ BTS ฟ้องต่อศาลปกครองและศาลคดีอาญาคดีทุจริตฯ กรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและกรณีล้มการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกนั้น มีผลกระทบต่อการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ ?

 

4. สรุป
เมื่อกระทรวงมหาดไทยทำคำชี้แจงครั้งที่ 9 เสนอต่อที่ประชุม ครม. หาก ครม. เห็นว่าคำชี้แจงครบถ้วน มีเหตุผลรับฟังได้ และเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ก็ควรถึงเวลาที่ ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสียที
ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีที่อยากเห็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนขยายให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วยความสะดวก รวดเร็ว ราบรื่น แบบไร้รอยต่อด้วยราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งส่วนหลักและส่วนขยาย (ซึ่งเป็นโครงการของ รฟม. ในสังกัดกระทรวงคมนาคม) ที่ได้รับการขยายสัมปทานไปก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว

ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น