“สปสช.” แจงประชาชน ยังรักษาโควิด-19 ฟรี

“เลขาฯสปสช.” แจงถอนโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต ประชาชนยังรักษาฟรี เว้นรพ.เอกชนที่อยู่นอกระบบสุขภาพ แต่หากมีอาการป่วยวิกฤตกองทุนสุขภาพพร้อมเข้าไปดูแลเหมือนเดิม

วันนี้ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ชี้แจงถึงกรณีมีกระแสข่าวการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ หรือ UCEP มาเป็นการรักษาตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคลว่า การออกประกาศเป็นอำนาจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปลดโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่หากมีการประกาศออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รักษาแล้ว ดังนั้น การที่ใช้คำว่า “หมดสิทธิรักษาฟรี” จึงไม่ถูกต้อง ตนขอยืนยันว่ายังรักษาฟรี และรักษาฟรีทุกโรค ไม่เฉพาะแค่โควิด

เลขาธิการ สปสช. ย้ำว่า ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจหลักการระบบสาธารณสุขของไทยก่อน คือ 1. เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตัวเองมี เช่น สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ 2. หากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ซึ่งกรณีของโควิด-19 นั้น ตั้งแต่ปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่า การป่วยเป็นโรคโควิด-19 ถือเป็นเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากในช่วงแรกจนถึงช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา มีความกังวลว่า เมื่อป่วยแล้วเชื้อจะลงปอด ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้รีบนำผู้ป่วยเข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด

 

ข่าวที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ดี สายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้ คือ สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้านในระบบ Home Isolation ได้ หรือมีเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ดังนั้น หากมีการประกาศให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบัตรทองรักษาทุกโรคอยู่แล้ว

ส่วนในกรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสุขภาพใดระบบสุขภาพหนึ่ง ในอดีตประชาชนสามารถไปได้เฉพาะในภาวะฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเมื่อโรคโควิด-19 ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ก็หมายความว่าผู้ป่วยสามารถไปรักษาในโรงพยาบาลประเภทนี้ได้ แต่หากต่อจากนี้ไปโรคนี้ไม่ได้ถูกประกาศว่าเป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว ขอแนะนำให้ไปรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบของสิทธิสุขภาพตามระบบปกติ เพราะหากไม่มีอาการฉุกเฉินแล้วไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบ กองทุนสุขภาพต่างๆ จะไม่ได้เข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายให้ อย่างไรก็ตามหากป่วยเป็นโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินด้วย เช่น มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตนั้น ทางกองทุนสุขภาพของผู้ป่วยรายนั้นๆ จะตามไปดูแลให้ สรุปประชาชนถ้าป่วยด้วยโรคโควิด-19 หากไปเข้ารักษาตามระบบตามสิทธิสุขภาพของตนก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เหมือนเดิม แต่หากไปโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่มีอาการฉุกเฉิน ทางกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าไปดูแลแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"กองทัพไทย" แจ้งปิดเส้นทางการจราจร ระหว่างการซักซ้อมพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์
เปิดแล้ว "บึงบ้านนาฟาร์มสเตย์ & คาเฟ่" โดย "อมร อมรรัตนานนท์" อดีตพันธมิตรฯ นักสู้คนแกร่ง
”ภูมิธรรม“ ตรวจเยี่ยมกองกำลังผาเมือง ยัน "กลุ่มว้าแดง" ไม่ละเมิดอธิปไตย เป็นแค่ข่าวลือ
“นฤมล” ขึงขัง ใครทำผิดรุกที่ ส.ป.ก.ฟันไม่เลี้ยง ลั่นต้องทำตามกม.
ระทึก ห้องเช่าขนของหนีไฟไหม้ห้องติดกัน
ตำรวจตามรวบ หนุ่มเมียนมาร์ ปาดคอสาวไทย
ลุ้นหมายจับ "นักร้องดัง" หลัง "บิ๊กเต่า" ลั่นคดีนี้เข้าข่าย พยายามกรรโชกทรัพย์
วธ.ชู "วัดผาลาด" สู่แหล่งท่องเที่ยว เชิงศาสนา-วัฒนธรรมฯ
กู้ซากค้นหาผู้สูญหาย เหตุคานถล่มถนนพระราม 2 ล่าสุดพบอีก 1 ศพ รวมเสียชีวิต 6 คน
"พระพยอม" ติง "พระพุทธแฮนด์ซั่ม" เป็นประติมาเกิน ไม่ใช่ประติมากรรม พระพุทธรูปควรสะท้อนความงดงามและเหมาะสม

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น