วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่บริเวณประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ แนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 และติดตามการขับเคลื่อนแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ติตตามความสำเร็จจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตามที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบรรเทาอุทกภัยช่วงฤดูฝน และเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว และโครงการที่ได้รับการอนุมัติงบกลางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คณะหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
โดยในโอกาสนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามการดำเนินงานในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด โดยเฉพาะโครงการที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วในฤดูแล้งนี้ เพราะรัฐบาลต้องการที่จะแก้ปัญหาทำให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดีมากขึ้น มีน้ำอุปโภคบริโภค มีน้ำกินน้ำใช้น้ำ น้ำเพื่อการเกษตรและทำพืชไร่ เพราะถ้ามีน้ำประชาชนก็จะมีรายได้มากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของทางรัฐบาลที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต หรือโครงการน้ำก่ำเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรแก้ปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี ทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากก็ยังช่วยในการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่น้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกด้วย โดยประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิตเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนที่น้ำจะลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งจังหวัดนครพนม มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน 591 โครงการ สามารถกักเก็บน้ำได้ 264.69 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 286,855 ไร่ และเตรียมขยายผลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต ในระยะที่ 2 เพื่อช่วยเก็บกักน้ำ สนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร รวมพื้นที่ประมาณ 22,000 ไร่ ในปี 2566 – 2567
ส่วนในจังหวัดสกลนครก็มีโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง – น้ำก่ำ โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ ที่ระยะเวลาดำเนินการโครงการละ 5 ปี ในปี 2562-2566 ทั้งยังมีแผนพัฒนาหนองหาร 5 ด้าน ปี 2563-2572 ที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 760 ไร่ และจังหวัดร้อยเอ็ดมีโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 500 ไร่ ซึ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลทั้ง 2 โครงการช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาด้านสังคมการย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องอาศัยเกษตรน้ำฝน การมีแหล่งน้ำไว้ใช้จะลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี.
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญกุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครพนม