เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้ง สำหรับกรณีการลดโทษนักโทษ แบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ของ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม หลังจาก นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ ดีเจต้อย และนายชัชวาลย์ ศรีจันดา สองแกนนำ นปช.จังหวัดอุบลราชธานี นักโทษคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ทั้งที่โดนคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่ติดจริงเพียง 6 ปี อีกทั้งย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็มีกรณีนักโทษคดีจำนำข้าว ได้ลดโทษกันแบบจัดหนักจัดเต็ม จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ถึงขั้นประชดประชันว่า “มีคุกไว้ทำไม” และยังตั้งคำถามว่า “ราชทัณฑ์” มีอำนาจเหนือตุลาการหรือไม่? ร้อนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบขั้นตอนการอภัยโทษเป็นการด่วน
ทั้งนี้ทีมข่าวท็อปนิวส์ได้ตรวจสอบพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแต่ละปี ที่มีประกาศออกมาเนื่องในวันสำคัญ พบประเด็นสำคัญอยู่ที่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ที่มีอำนาจตรวจสอบคัดกรองรายชื่อนักโทษ ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้แก่ คณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน และพนักงานอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมเป็น 3 คน ซึ่งเมื่อตรวจสอบรายชื่อนักโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษเสร็จแล้ว ให้ส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ”