3 อดีตตำรวจ งัดประสบการณ์ตรง ฟาดหน้าพวกอวดรู้ มโน “แตงโม” ถูกฆาตกรรม

ผู้การแต้ม' มั่นใจคดี 'แตงโม' ไม่ใช่ฆาตกรรม เชื่อหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จะชี้ชัดทุกอย่าง  ขณะที่อำนวย นิ่มมะโน ฟาดแรงพวกอวดรู้ปั่น ‘คดีแตงโม’ ย้ำตร.อย่าหลงทาง ด้าน พ.ต.อ. 'วิรุตม์' วิเคราะห์คดี 'แตงโม' ไม่ยาก สิ่งที่ยากคือมีการ 'มโน' กันมากมาย

พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าของฉายา “มือปราบหูดำ” วิเคราะห์คดีของ “แตงโม นิดา” ว่า คดีนี้ไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อน เป็นคดีที่สืบสวนสอบสวนง่ายที่สุด แต่ยากตรงที่จะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจ เพราะเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจและผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และคดีนี้ที่สังคมมองว่า เป็นพิรุธ เพราะ 1.หลังเกิดเหตุ คุณไม่ได้แจ้งใคร สังคมเลยมองว่ามีเงื่อนงำ แต่เขาก็ไม่ได้ทำลายพยานหลักฐาน เรือที่เกิดเหตุ เขาก็เอาไปจอดไว้ที่อู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และเขาก็ไม่ได้มีการทำความสะอาด ไม่ได้ทำลายหลักฐาน

พลตำรวจตรีวิชัย ยังกล่าวอีกว่า การสืบสวนในคดีนี้ เมื่อการตายของแตงโมเป็นการตายแบบผิดธรรมชาติ ตำรวจต้องไปดำเนินการชันสูตร เพื่อหาสาเหตุการตาย ว่าเป็นการทำให้ตายอย่างไร ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการที่บอกว่าเป็นคดีฆาตกรรม ยืนยันได้เลยตรงนี้ ไม่ใช่คดีฆาตกรรมแน่นอน เพราะคดีฆาตกรรม มันต้องมีสาเหตุ มีแรงจูงใจ แล้วต้องมีวางแผนฆ่า คำถามคือ ไฮโซสามคนนี้ จะมาวางแผนฆ่าแตงโมด้วยเหตุผลอะไร ทั้งที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองแบบรุนแรงกันมาก่อน ถ้าจะเป็นไปได้คือความประมาท ของคนขับเรือตีโค้งที่อาจจะทำให้เขาตกน้ำตายหรือเป็นความประมาทของผู้เสียชีวิตเอง

ส่วนพยานหลักฐานมี 3 ส่วนประกอบกัน คือ บุคคลที่อยู่ในเรือ 5 คน พยานแวดล้อม ตั้งแต่ร้านกินข้าว แม้แต่คนที่พบศพครั้งแรกก็เป็นพยานแวดล้อม เพื่อที่จะได้รู้ว่าตอนเจอศพสภาพเป็นอย่างไร พยานวัตถุที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ถ้าบอกว่ามีการฆ่า มีการหั่น ต้อ ถามว่ามีมีดบนเรือไหม มีเลือดอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ และสุดท้ายคือนำพยาน 3 ส่วนนี้มาประกอบกับนิติวิทยาศาสตร์ หากผสมกันได้ ใครกระทำความผิดมันจะชัดเจน เพราะนิติวิทยาศาสตร์มันโกหกไม่ได้ เขาจะรู้เลยว่า เลือดที่ไหล แผลที่เกิดขึ้นมันเกิดก่อนหรือหลังเสียชีวิต

“ถ้าฆาตกรรมแบบนี้เลือดต้องมหาศาล เลือดอาจจะต้องตกอยู่ในที่เกิดเหตุติดเสื้อผ้า ของผู้ต้องสงสัย และเสื้อแตงโม เมื่อถามว่ามีไหม ถ้าไม่มีคุณต้องตัดเรื่องฆาตกรรม ถ้าบอกบีบคอ มีรอยช้ำไหม มันก็ไม่มี ก็ต้องตัดไอ้พวกฆาตกรรม อาจเป็นเรื่องประมาท ผมถึงบอกว่าสังคมต้องตั้งสติ อย่าไปทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย แล้วตำรวจเขาตั้งใจทำงาน แล้วถ้าแผลตรงนั้นเป็นใบพัด และเป็นใบพัดเรือ แสดงว่าน้องแตงโมก็ต้องตกไปตรงนั้น” พลตำรวจตรีวิชัย กล่าว

ส่วนคำให้การของคน 5 คน ที่ดูเหมือนเชื่อไม่ได้ มีการโกหกหรือไม่ ผู้การแต้ม กล่าวว่า เรื่องโกหกหรือไม่โกหก ไม่สำคัญ ยังไงตำรวจต้องสืบสวนได้ เพราะถ้าคำให้การของคุณมันขัดกับหลักฐานแสดงว่า คุณโกหก

พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ ยืนยันด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำคดีล่าช้า เพราะว่าตอนนี้ผ่านไปเพียง 5 วันเท่านั้น อย่าว่าช้าเลยคดีนี้ไวมาก เดี๋ยวผลนิติวิทยาศาสตร์ออกมาก็จะสรุปสำนวนได้เลย เพราะตนไปสอบถามพนักงานสอบสวนแล้ว เขาสอบปากคำทุกปากเสร็จเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า มีข้อกังวลว่า คนรวยอาจจะไม่ได้รับโทษนั้น พลตำรวจตรีวิชัย กล่าวว่า สังคมไทยเราชอบ พูดว่าคนรวยไม่ติดคุก คนจนติดคุก แต่ตนยังเชื่อมั่นว่า คนรวย หากทำความผิดได้ก็ต้องติดคุกได้ คนจนกระทำความผิดก็ต้องติดคุกได้ พร้อมยืนยันว่า ส่วนตัวจะไม่พูดไปตามกระแส ไม่เช่นนั้นสังคมเสียหาย และเรื่องไหนที่พูดแล้วสังคมไม่ได้รับประโยชน์ ตนจะไม่พูด ก่อนหน้านี้คดีลุงพล ตนก็เคยยืนยันไปแล้วว่า เป็นลุงพล แต่ก็มีคนบอกมา

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรอง ผบก.จเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงคดี “แตงโม” นักแสดงสาว พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ต กลางแม่น้ำเจ้าพระยาจนเสียชีวิต ว่า ณ เวลานี้ยังไม่พบพยานหลักฐานอะไรที่บ่งชี้ว่า แตงโมถูกกระทำให้ตายโดยเจตนาทั้งประสงค์ต่อผลโดยตรงหรือย่อมเล็งเห็นผล ไม่ว่าจากผู้ใด ส่วนกรณีข้อหาเรื่องความประมาท อาจเป็นเพราะคนขับเรือไม่มีใบอนุญาต ซึ่งจะถือเป็นสัญญาณแห่งความประมาทอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ในมุมของ “กฎหมายและความยุติธรรม” จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ไม่แน่ใจ?

“เพราะการไม่มีใบอนุญาต เป็นเรื่องของกฎหมายห้าม ส่วนความประมาทเป็นเรื่องของ พฤติกรรมการกระทำหรือไม่กระทำในสิ่งที่มีหน้าที่ต้องทำ ตัวอย่างเช่น ไม่มีใบอนุญาตขับรถ แต่ขับรถตามกฎจราจรทุกประการ เวลาชนกัน จะบอกว่าเราประมาทเพราะไม่มีใบขับขี่ได้หรือ สิ่งที่เป็นอาจพอถือว่าเป็นความประมาทจริงๆ คือ การที่คนขับเรือขณะเกิดเหตุไม่ดูแลให้ผู้โดยสาร สวมชูชีพ ถ้าควบคุมให้ผู้โดยสารใส่ชูชีพ แม้พลัดตกเรือไปก็คงไม่ตาย อย่างนี้อาจถือว่าคนขับขณะนั้นเรือกระทำประมาท คือ งดเว้นการกระทำในสิ่งที่มีหน้าที่ต้องทำ ซึ่งถือเป็น การกระทำ อย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

อดีต รอง ผบก.จเรตำรวจ กล่าวว่า ตำรวจต้องดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน และชี้แจงต่อสังคมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้คนจะได้ไม่ “มโน” กันไปเตลิดเปิดเปิงเช่นที่เป็นอยู่เวลานี้ คำว่า “ความลับ” ในสำนวน” ควรจะเลิกพูดกันเสียที เพราะเมื่อแจ้งข้อหากับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว จะมี “ความลับ” ได้อย่างไร ผู้ต้องหาต้องได้รับทราบรายละเอียดเป็นหนังสืออยู่แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาประมาทถึงสองคนแล้ว ไม่แจ้งรายละเอียดพฤติการณ์และพยานหลักฐานต่างๆ ให้สังคมทราบ ทำให้ผู้คน ‘มโน’ กันเกินจริงไปมากมาย และคนขับเรือขณะเกิดเหตุซึ่งถือว่าประมาทนั่นเป็นใคร ก็ไม่ชัดเจน กลายเป็นประมาททั้งสองคนได้อย่างไรเหมือนการขับรถ ผลัดกันขับ ใครขับชนเพราะทำผิดกฎจราจร คนนั้นก็ประมาท คนที่ไม่ได้ขับย่อมไม่เกี่ยวข้อง

“ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็ไม่ควรแจ้งข้อหาใคร และไม่จำเป็นต้องเสนอศาล ออกหมายจับด้วย แค่ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อหาก็ได้ ทำไมไม่ทำ คงได้แต่คิดกันว่าเป็นคดีมีโทษจำคุกเกิน 3 ปีขึ้นไป สามารถเสนอศาลให้ออกหมายจับได้เลย ไม่ต้องมีหมายเรียก จำเป็นหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาของ ป.วิ อาญา ต้องแก้ไข”

ส่วนที่หลายคนสงสัย เกี่ยวกับเสื้อขาด และรอยช้ำใต้รักแร้ พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า การตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานา ทุกคนสามารถคิดและจินตนาการได้ แต่การที่รัฐจะกล่าวหาใครว่ากระทำผิดอาญา จำเป็นต้องมี “พยานหลักฐานที่ชัดเจนพอที่เสนอให้อัยการสั่งฟ้องและพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้” ไม่ใช่มีพยานหลักฐานแค่ “พอฟ้อง” หากไม่เชื่อที่ “แซน” พูดว่า “แตงโม” ไปปัสสาวะนั่งท้ายเรือแล้วพบัดตกไปขณะลุกขึ้นยืน ก็ต้องถามว่าเพราะอะไร มีพยานหลักฐานแตกต่างไปหรือพิสูจน์ว่า “แซน” พูดเท็จ ซึ่งจะมีความผิดฐานให้การเท็จต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งข้อสันนิษฐานว่า ชุด “บอดี้สูท” ฉี่ไม่ได้ ก็ต้องตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่? หากบุคคลต้องกระทำในภาวะที่จำเป็น ไม่ใช่ภาวะปกติ และ “ความทุลักทุเลที่จำเป็น” นี่ ก็อาจเป็นเหตุที่ทำให้แตงโมเสียหลักพลัดตกน้ำไปด้วยหรือไม่?

“คนที่เห็นแตงโมตกน้ำจริงๆ ก็คือ แซน ที่ยื่นขาให้แตงโมจับ ถือเป็น ประจักษ์พยาน เห็นกับตา ซึ่งเราจะไม่เชื่อเขาเพราะอะไร และเห็นเพียงคนเดียว คนอื่นอยู่ด้านหน้าเรืออาจจะไม่เห็นช่วงที่พลัดตกน้ำจริงๆ และเวลานี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถพูดเป็นอื่นได้ว่า ไม่ใช่อุบัติเหตุ”

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปกติแล้ว คนตกน้ำจมน้ำตาย ทรายใต้น้ำจะไม่เข้าไปในปอด เพราะจะตะเกียกตะกายอยู่บนผิวน้ำและสำลักน้ำข้างบนจนหมดแรง แต่เหตุการณ์นี้ อาจเนื่องจากแตงโมได้บาดเจ็บจากใบพัดเรือเป็นแผลฉกรรจ์ที่ขาทันทีที่ตกน้ำ ทำให้ไม่สามารถกระทุ่มน้ำเหมือนคนตกน้ำปกติได้ ทำให้จมดิ่งลงไปใต้น้ำอย่างรวดเร็วจนถึงพื้นขณะยังหายใจและสำลักทั้งน้ำขุ่นทรายบริเวณใต้น้ำเข้าไปปอดได้

“ใครที่ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าจะเป็น การตกเรือ ด้วยอุบัติเหตุ ก็ต้องหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนว่า เพราะเหตุใด ไม่ใช่จินตนาการแล้วบอกมีพิรุธอย่างนั้นอย่างนี้ในขณะที่การตรวจเรือก็จำเป็นต้องหา DNA ที่บริเวณเรือในแต่ละจุด โดยเฉพาะบริเวณที่มีการระบุว่าดาราสาวไปนั่งปัสสาวะ ซึ่งถ้ามี DNA อยู่ในบริเวณนั้นหรือในจุดที่ไม่ควรมีสำหรับผู้โดยสารปกติ ก็อาจสรุปได้แน่ชัด แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ได้แปลว่าแตงโมไม่ได้ไปตรงนั้น เพราะน้ำอาจจะชะไป หรือสภาพเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุอื่นก็ได้ ” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวและว่า ส่วนตัวมองว่า คดีนี้ ไม่ได้ยากเลย แต่สิ่งที่ยาก คือ มีการ “มโน “กันไปมากมาย และ ตำรวจก็ไม่ชี้แจงอะไรให้กระจ่าง อ้างกันแต่ว่าเป็น “ความลับในสำนวน”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวมองว่า การที่ดาราสาวไปฉี่บริเวณนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าคนปวดจริงๆ และจะบอกคนขับเรือให้จอดเรือก็ลำบากใจ เพราะไม่ได้คุ้นเคยทุกคน กลัวคนเห็นหรือถ่ายรูปได้ มีโอกาสเป็นไปได้ว่า ดาราสาวได้พลัดตกเรือลงไปแล้วถูกใบพัดฟันขาทันที พอใบพัดโดนขา ก็ไม่สามารถพยุงตัวเองในน้ำได้แม้ชั่วขณะเช่นคนตกน้ำปกติ ร่างที่ยังหายใจอยู่ได้ดิ่งจมทันทีตามที่กล่าวมา

 

ล่าสุด พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (อดีต ผบช.ภ.1) โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยแสดงความคิดเห็นถึงคดีการเสียชีวิตของนักแสดงสาว “แตงโม” นิดา พัชรวีระพงษ์ มีเนื้อหาดังนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สอบสวน กำลังทำงานตามกระแสจากนักสืบโซเชียล ที่ตั้งข้อเรียกร้องความสนใจ ให้เกิดขึ้นในสังคม อาจจะมีทั้งผู้รู้และไม่รู้ บางประเด็นถึงขนาดหมิ่นประมาทผู้เสียชีวิตก็มี เช่น มีผู้ใหญ่รออยู่ที่โรงแรมริมน้ำ รับงานเอ็นฯ, 1 ใน 5 บนเรือรับสารภาพแล้ว (แอบได้ยินในห้องน้ำ), มีการเสพยาบนเรือ, พล.ต.ต. นอ หนู แอบให้ข่าว แอบขายข่าว, ผลการตรวจพิสูจน์ศพ จะทำให้ตำรวจอึ้ง, ชี้นำให้เอาคนบนเรือ ทั้ง 5 คนเข้าเครื่องจับเท็จ เป็นต้น

ประเด็นของเครื่องจับเท็จนั้น ไม่ใช่อยู่ๆก็จะให้ใครเข้าเครื่องจับเท็จได้ทันที มันมีวิธีการ มีกระบวนการ ต้องแสวงหาพยานหลักฐาน มาเปรียบเทียบ มาพิสูจน์ คดีแรกที่มีการใช้เครื่องจับเท็จเข้ามาพิสูจน์ในทางคดี ตนเองได้ทำคดีนั้น กว่าจะนำไปเข้าเครื่องจับเท็จ จะต้องทำการสืบสวนสอบสวน พิสูจน์ทดลองกันหลายขั้นตอน แสวงหาพยานหลักฐานประกอบจนเห็นว่าควรนำเข้าเครื่องจับเท็จ

สมัยที่พลตำรวจเอกวรรณรัตน์ คชรัตน์ เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม คดีการเสียชีวิตของสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ซึ่งเป็นคดีที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ พนักงานสืบสวนสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ใช้ความรู้ความสามารถ ทั้งทางด้านกฎหมาย หลักวิชาการ ประสบการณ์ทำงาน ไม่มีผู้ชี้นำ ไม่มีผู้ชักจูง สร้างประเด็น สร้างปัญหาให้กับการสืบสวนสอบสวน ทั้งๆที่ผู้ต้องหาเป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กับพวก ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจอีกกว่า 10 นาย เสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี ตนเองทำสำนวนคดีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งไปเบิกความต่อศาล และศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งหมด ไม่มีนักสืบโซเชียล ผู้รู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง มาชี้นำกำหนดประเด็นทำให้ต้องหลงป่า จนแทบจะหาทางออกไม่เจอ ที่ผ่านมา พนักงานสืบสวนสอบสวนจะมีอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะการสอบสวนต้องกระทำโดยลับ การให้ข่าวกับสื่อมวลชนในคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเท่าที่จำเป็น สื่อก็นำเสนอต่อสาธารณะเท่าที่ไม่เสียความยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่มีการโต้กันไปโต้กันมา กล่าวหากันไปมา จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ชอบด้วยกฎหมายภายใต้หลักการที่ถูกต้อง

จากที่ได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ยังไม่ปิดคดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าสอบสวนเสร็จแล้ว จะสรุปผลในวันศุกร์ที่ 11 มี.ค.65 เป็นเพราะกระแสจึงทำให้
ท่านตอบเช่นนั้นหรือไม่ ถ้าใช่ ขอให้อย่าลืมว่า การสอบสวนต้องกระทำด้วยความ “รวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม” เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องทำความเห็นตามท้องสำนวน คือตามพยานหลักฐาน แล้วมีความเห็นตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 หรือ 141 แล้วแต่กรณี ไม่ใช่เมื่อมีกระแสจึงไม่กล้าปิด การสอบสวนไม่ใช่โรงลิเก ที่หากมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ ก็สามารถรื้อคดีใหม่ได้

ตนเองในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีการประชุม กันในวันจันทร์ที่ 14 มี.ค. 65 จะนำปัญหานี้เสนอในที่ประชุม เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการ แนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงจะต้องร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราช “น้ำ วาริน” คะแนนนำ “กนกพร” โค่นแชมป์เก่า
เล็ก ฝันเด่น มอบสิ่งของที่มีสารไอโอดีนให้ ทรภ.1 นำสู่น้อง ๆ สู่พื้นที่ภาคเหนือ
รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จัดงานวันเบาหวานโลก “World Diabetes Day 2024”
เลือกตั้ง นายก ทต. ท่าพริกเนินทราย คึกคัก
รถบรรทุก 6 ล้อ ไหลลงเนินเขา เบรกไม่อยู่ พุ่งชนร้านค้า โชคดีไร้ผู้บาดเจ็บ
“ปานเทพ” แนะ “หมอบุญ” กลับไทยยังไม่สาย ลั่นหากคิดว่าตัวเองไม่ผิด ก็มาแสดงความบริสุทธิ์
"แสวง" เลขากกต.รับ ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกนายกอบจ.อุดรธานี บางตา ย้ำรู้ผลคะแนนไม่เกิน 3 ทุ่มวันนี้
สดุดีทหารกล้า สละชีวิตเหตุคนร้ายซุ่มยิงทหารพราน ในพื้นที่ยะลา
"ชูศักดิ์" ชี้สัญญาณดี ศาลฯไม่รับคำร้องคดี "ทักษิณ-พท." ล้มล้างการปกครอง พร้อมแจงคดีครอบงำต่อกกต.
"ปานเทพ" ชี้ "ทนายตั้ม" ดิ้นยาก เปลี่ยนคดีฉ้อโกงเป็นแพ่ง ท้าแน่จริงรับสารภาพดีกว่า

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น