ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เพจเฟสบุ๊คของ สนง.ประชาสัมพันธ์ จ.สุรินทร์ ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้(15 มี.ค.65) นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้มอบหมายให้ นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ครั้งที่ 11/2565 เพื่อติดตามสถานการณ์ โรคติดต่อ และแนวทางการปฏิบัติในการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึง เห็นชอบมาตรการเตรียมความพร้อม เป็นจังหวัดนำร่อง โรค covid-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยมีมติเห็นชอบให้เริ่มวันที่ 1 เมษายน 2565 ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้ อัตราผู้ป่วยครองเตียงผู้ป่วยหนักไม่เกินร้อยละ 3 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด, อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.5,ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า 70%,ประชาชนกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 80%,ทุกหมู่บ้านมีชุดตรวจ ATK ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของประชากรในหมู่บ้าน,หมู่บ้านมีการปลูกสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพร้อยละ 100,อสม.ต่อประชากรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 10 ครัวเรือนต่อ 1 คน,ประชาชนสวมแมส 100%, ดำเนินการ D-M-H-T -T 100 % และ 100 % สถานที่ต้องมีมาตรการ องค์กรและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด Covid Free Setting ทั้งนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ อยู่ที่การปฏิบัติและความร่วมมือของประชาชนชาว จ.สุรินทร์ทุกคน ที่จะ ไม่นำโรคสู่ครอบครัว ไม่นำโรคสู่ชุมชน ไม่นำโรคสู่องค์กร
วันนี้ (16 มี.ค. 2565) ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ตลาดชายแดนช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ถึงกรณีที่ จ.สุรินทร์จะเตรียมพร้อมให้เป็น จังหวัดนำร่อง โรค covid-19 เป็นโรคประจำถิ่น นั้น โดยต่างยังไม่ขอออกความคิดเห็น เนื่องจากยังไม่รับทราบข้อมูลถึงข้อดีและข้อเสียหากให้โรค covid-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งอย่างไรก็ตาม ประชาชนต่างก็ฝากถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประเมินสถานการณ์ให้รอบคอบถึงความพร้อมและผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน อีกทั้งโควิดสายพันธุ์โอมิครอน “BA.2.2″กำลังจะระบาดเข้ามาในประเทศไทย ตามที่เป็นข่าวว่า มีความรุนแรง โดยเฉพาะที่ฮ่องกง ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอีกด้วย แต่ถ้าหากว่าโรคไม่รุนแรงและสามารถควบคุมได้ หลังจากประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น แล้วจะส่งผลให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างปกติและสามารถเปิดด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวรช่องจอมได้อย่างปกติ ก็จะเป็นผลดีต่อการทำมาหากินของประชาชนตามแนวชายแดนด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากมีไวรัสโควิด-19 เข้ามาทำให้ชายแดนปิด ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถทำมาค้าขายได้เหมือนเดิม และเงียบเหงามานานกว่า 2 ปีแล้ว
ภาพ/ข่าว กฤษดากร กีรติธำรงค์เจริญ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สุรินทร์