วันที่ 17 มี.ค. 2565 ณ โรงแรมบุรีศรีภู บูติก โฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือซีแพค CPAC จัดเวทีเสวนา “CPAC Green Solution ล้ำ เปลี่ยน โลก Roadshow” โดยมีนางสาวมนต์ธิชา คำเมือง CSC-Director Songkhla เป็นประธานกล่าวเปิดงาน มี ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อ BIM Today for Design and Contruction และการเสวนาเปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่กับ CPAC Green Solution โดยมีคู่ค้า ผู้รับเหมา ผู้สนใจ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด นางสาวมนต์ธิชา คำเมือง CSC-Director Songkhla กล่าวถึงการจัดงาน CPAC Green Solution ล้ำ เปลี่ยน โลก Roadshow ว่า ซีแพค กรีน โซลูชัน อยู่ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างมายาวนาน ที่ผ่านมาไม่เคยหยุดนิ่งที่จะศึกษานวัตกรรมหใม่ๆ มาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันครบวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักสำคัญของ SCG ที่มีการวางกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ ESG 4 Plus เพื่อมุ่งสู่ Net Zero Go Green “วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานในวันนี้เพื่อแชร์องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง และเพื่อสร้างความร่วมมืออันดีระหว่างผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ ตั้งแต่เจ้าของงานก่อสร้าง ผู้รับเหมา ช่าง ผู้ให้บริการด้านการก่อสร้าง ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตวัสดุ และผู้จำหน่ายวัสดุทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น”
สำหรับ ซีแพค กรีน โซลูชัน มีโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าครบจบในที่เดียว เริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง รวมไปถึงหลังการก่อสร้าง โดยแบ่งเป็นโซลูชั่น ดังนี้ 1.กลุ่มโซลูชันสำหรับงานสำรวจและออกแบบ รวมไปถึงการควบคุมการก่อสร้าง – CPAC Drone Solution ใช้ “โดรน” (Drone) ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ และนำข้อมูลมาจัดทำผังโครงการ ลดระยะเวลาในการสำรวจ ลดความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่
– CPAC BIM (Building Information Modeling) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารงานก่อสร้าง เพื่อช่วยให้เห็นภาพงานก่อสร้างในทุกขั้นตอน 2 กลุ่มโซลูชันสำหรับงานก่อสร้าง มี 2 ส่วน ดังนี้ – CPAC 3D Printing Solution โซลูชันการก่อสร้างรูปแบบใหม่โดยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ ขึ้นรูปด้วยปูนซีเมนต์เป็นรูปผนังอาคาร หรือชิ้นส่วนของอาคาร ตลอดจนชิ้นงานสำหรับตกแต่ง โดยสามารถทำการพิมพ์ขึ้นรูปทั้งแบบในพื้นที่ก่อสร้างเลย (on-site) และแบบผลิตจากโรงงาน (off-site) ช่วยลดการเกิดของเสียจากกระบวนการก่อสร้างลงอย่างน้อย 70% เมื่อเปรียบเทียบกับระบบหล่อในที่ – CPAC Housing and Building Solution ก่อสร้างที่พักอาศัยที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างสะดวกสบาย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้าง ลดการใช้แรงงาน และ ลดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างที่หน้างานได้มากกว่า เมื่อเทียบกับระบบหล่อในที่ ประกอบด้วย ระบบผนังสำเร็จรูป (Precast) เป็นการผลิตผนังสำเร็จรูปจากโรงงาน และระบบการก่อสร้างสำเร็จรูป PPVC (Prefabricated Prefinished Volumetric Construction) เป็นวิธีการก่อสร้างรูปแบบหนึ่ง ที่เตรียมชิ้นงานเป็นหน่วย เป็นโมดูลเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อน ผลิตแต่ละโมดูลออกมาจากโรงงาน แล้วนำมาประกอบหรือติดตั้งที่หน้างาน เป็นการลดการใช้แรงงานให้น้อยลง ลดระยะเวลาในการก่อสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ลดเศษวัสดุเหลือทิ้ง เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังเป็นการลดต้นทุนในการก่อสร้างได้อีกด้วย
ด้าน ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร เผยว่า “อุตสาหกรรมก่อสร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดังนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเพื่อพัฒนา ให้กระบวนการการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ในงานให้ได้มากที่สุด และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ปัจจุบันนำเอาเข้ามาใช้ ได้แก่ BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสร้างแบบครบวงจรที่มีความแม่นยำ ตั้งแต่การออกแบบ การเขียนแบบ การคำนวณโครงสร้าง การประเมินราคา การวางแผนระบบต่างๆ ของอาคาร ฯลฯ” “ด้วยเทคโนโลยีของ BIM สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา การออกแบบก่อสร้างอาคารเราจะใช้พิมพ์เขียว (Blueprint) ในการสร้างแบบจำลอง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย เพราะในการก่อสร้างแต่ละครั้งย่อมจะต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้แม่แบบพิมพ์เขียวมีหลากหลาย โดยเฉพาะหากมีการแก้ไขแบบแล้วผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายไม่ทราบก็ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ล่าช้า เป็นต้น โดย BIM จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนความซับซ้อนตรงนี้ ซึ่งหลักการทำงานของ BIM คือทุกคนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ของโครงการก่อสร้างจะทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แพลตฟอร์มที่ว่านี้จะเป็นระบบ 3 มิติ ดังนั้นจะทำให้เห็นภาพได้ง่ายและเข้าใจในสิ่งเดียวกัน ระบบสามารถตรวจสอบความขัดแย้งต่างๆ และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มต้น ทำให้ลดการสูญเสีย อีกทั้งเจ้าของโครงการก็สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าได้ทุกเวลาและแจ้งแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที”
“ปัจจุบัน ซีแพคและอีกหลายๆ บริษัท ก็ได้มีการนำ BIM เข้ามาใช้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการปุณณกัณต์วัลเลย์ บ้านแฝด 2 ชั้น 12 ยูนิต (เฟส 2) โครงการก่อสร้าง โรงงานไฮแคร์ขนาด 12 x 60 เมตร หาดใหญ่ จังหวัด สงขลา และโครงการประปานาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นต้น สำหรับแนวโน้มในอนาคตมองว่า BIM จะต้องเข้ามาปฏิวัติวงการก่อสร้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจวงการก่อสร้างจะต้องปรับตัวเข้าสู่ทิศทางการทำงานของ BIM เพื่อให้เราสามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ต่อไปได้” ศ.ดร.อมร กล่าวปิดท้าย พบกับงาน “CPAC Green Solution ล้ำ เปลี่ยน โลก Roadshow” ภาคใต้ ครั้งต่อไปได้ที่ จ.กระบี่ วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565, จ.นครศรีธรรมราช วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2565, จ.สุราษฎร์ธานี วันพุธที่ 27 เมษายน 2565 และ จ.ภูเก็ต วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ CPAC Solution Center (CSC) สงขลา ได้ที่เบอร์ 089-873-1817, 081-897-8838 และ 061-389-0513
นภาลัย ชูศรี /จ.สงขลา