ซีพีเอฟ ชูนวัตกรรมและเทคโนโลยี หนุนประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด

กดติดตาม TOP NEWS

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำตลอดกระบวนการผลิต เสริมหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และบริหารจัดการน้ำทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ
สอดคล้องตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรของโลกอย่างยั่งยืน

นายพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สำนักวิศวกรรมกลาง ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย CPF กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำเป็นหนึ่งในความเสี่ยงระดับธุรกิจ ซึ่งในปี 2564 บริษัทฯ สามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ซ้ำและใช้ใหม่ ร้อยละ 44 ของปริมาณน้ำใช้ทั้งหมด ขณะที่ผลการดำเนินงานลดการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตในปีที่ผ่านมา ทำได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2568 ที่จะลดการนำน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลง ร้อยละ 30

ซีพีเอฟ บริหารจัดการการใช้น้ำ เพื่อนำน้ำมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้ว กลับมาใช้ในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตในธุรกิจอาหารสัตว์บก เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนน การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการกรองน้ำแบบความละเอียดสูง ชนิดอัลตราฟิลเตรชั่น (Ultrafiltration : UF) ถือว่าเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่ทันสมัย เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำจนมีคุณภาพได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการประปา ได้น้ำสะอาดหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ ใช้ในห้องน้ำเฉพาะส่วนที่ไม่สัมผัสกับมนุษย์ และมีการต่อยอดด้วยเทคโนโลยีการกรองน้ำแบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse osmosis) ทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสม เพื่อนำไปใช้กับระบบระบายความร้อน (Evaporative System) ภายในโรงงาน

บริษัทฯ พัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ด้วยการนำระบบลมเย็น (Air Chill) มาใช้แทนการใช้น้ำเย็น (Water Chill) เพื่อลดอุณหภูมิไก่ ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำลงประมาณ ร้อยละ 15 เทียบกับการผลิตเดิม และในส่วนของการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงสัตว์น้ำ นับเป็นส่วนสำคัญของการลดการนำน้ำมาใช้ของซีพีเอฟ มีการบำบัดน้ำด้วยระบบไบโอฟลอค(Biofloc) และ UF สามารถหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ในฟาร์มได้ ลดการดึงน้ำจากภายนอกมาใช้ร้อยละ 75 อาทิ ฟาร์มกุ้งบางสระเก้า จังหวัดจันทบุรี และฟาร์มร้อยเพชร จังหวัดตราด ที่นำระบบไบโอฟลอค ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถบำบัดสารละลายไนโตรเจนที่เกิดจากของเสียที่ขับถ่ายจากกุ้ง ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในระหว่างการเลี้ยง ส่งผลให้การใช้น้ำลดลง และนำเทคโนโลยี UF กรองน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว หมุนเวียนกลับมาใช้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งผลจากการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของหน่วยธุรกิจต่างๆ ทำให้ ในปี 2564 ซีพีเอฟสามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อตันผลผลิตจาก 17.3 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน ลงเหลือ 15.28 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน

คุณพีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟได้ประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ภายในปี 2563- 2568 โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 15 ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 30 ลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 35 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 25 ดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ ในปีนี้ บริษัทยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ทั้งหมด (Coal Free 2022) และปัจจุบัน บริษัทฯ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 27 ของสัดส่วนการใช้พลังงานทั้งหมด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ (Robotics) และระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions)

อกจากนี้ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งทุกหน่วยธุรกิจใช้เป็นหลักและแนวทางในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งนอกจากการใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว บริษัทฯ ยังได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ภายใต้โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี พื้นที่ 6,971ไร่ ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (ปี2564 -2568) ของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น