ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา
ทุกวันนี้เราตื่นตัวกับคำว่า disruptive technology กันมาก โดยประเด็นหลักที่พูดกันในบ้านเรา ก็คือเราจะสร้างสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กระโดดไปด้วยอัตราเร่งที่สูงยิ่งได้อย่างไร
เราพูดกันเรื่อง 5G เรื่อง big data เรื่อง AI
จะต้องพัฒนาโครงข่าย 5G ต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถสูงด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ด้าน cyber security ด้าน data analytics ต้องให้เด็กทำ codeing ได้ตั้งแต่ประถม ฯลฯ
ผู้เขียนไม่มีข้อสงสัยใดต่อแนวคิดเพื่อการพัฒนาเหล่านั้น
แต่เหรียญก็มีสองด้าน และจากการสังเกตการณ์สภาพสังคมนับตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่า IT หรือ Information Technology ได้เริ่มต้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในช่วง 1990s ผู้เขียนพบว่า “ช่องว่างระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุ กับการพัฒนาด้านจิตใจ” ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง กว้างขึ้นเรื่อย ๆ และในอัตราเร่งที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ
ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวมีผลอย่างรุนแรงต่อ “ความยั่งยืน” ในการพัฒนาของทุกประเทศ
ปัญหาสังคมที่หลากหลายและสลับซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อนล้วนเกิดจาก “การใช้” เทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสม ซึ่งบ้างก็อ้างว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” อีกประการหนึ่งก็เกิดจาก “การเสพย์” ข้อมูลโดยขาดสติ ขาดปัญญารู้คิด
การแสดงออกอย่างดิบ เถื่อน ถ่อย ที่สร้างความสะใจในอารมณ์ มีให้เห็นและติดตามกันดาษดื่น ทั้งเข้าถึงง่ายเพียงปลายนิ้ว
การปลุกเร้าทางเพศเพื่อแลกเศษเงิน แบบที่มักจะอ้างว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ธรรมดา (new normal)
การโกหกหลอกลวง การสร้างและการปั่นกระแส ในเรื่องต่าง ๆ มีมากมาย เพื่อจูงใจให้คนธรรมดาที่มีรัก โลภ โกรธ หลง และขาดปัญญา ได้ “ปลดปล่อย” อารมณ์ ความรู้สึก ทางใดทางหนึ่งออกมาเป็นปฏิกิริยา เพื่อสร้างความโกลาหลในสังคม
การปลุกเร้าหรือให้ความสำคัญกับการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็นมีมากมาย เป็นที่มาของความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย
ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาทางวัตถุ การพัฒนาจิตใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้ปัจเจกบุคคล จึงต้องก้าวไปพร้อม ๆ กันด้วย
และการพัฒนาจิตใจนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือจำกัดแต่สถาบันศาสนา หากเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะในระดับครอบครัว
ถ้าเรายังลดความเหลื่อมล้ำระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจไม่ได้ ก็ยากที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้เขียนเป็นนักกฎหมาย เป็นนักสังเกตการณ์สังคม ไม่เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ จึงไม่อาจสร้างแบบจำลองทางวิชาการออกมาได้ ทั้งไม่ได้จำฝรั่งที่ไหนมา แต่เกิดจากการติดตามสถานการณ์ ข้อเขียนนี้จึงไม่อาจเป็นข้ออ้างอิงตามหลักวิชาการ
คงเป็นเพียงความห่วงใยจากลุงแก่ ๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง