“วราวุธ”สั่งบูรณาการแก้ปัญหาขุดลอกปากแม่น้ำตรังกำชับต้องไม่กระทบระบบนิเวศแหล่ง “หญ้าทะเล” อาหารฝูงพะยูน200ตัว ย้ำนโยบาย ทส.รักษาสมดุลแห่งการพัฒนาคู่ขนานรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าได้สั่งการนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทีมนักวิชาการและนักดำน้ำสำรวจพื้นที่และผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา กรณีการขุดลอกปากแม่น้ำตรัง เมื่อปี 2562 – 2563 เพื่อขยายร่องน้ำให้เรือขนส่งสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น แต่ผลกระทบจากการขุดลอกกลับส่งผลให้เกิดการฟุ้งของตะกอนทรายและเกิดการทับถมบริเวณแหล่งหญ้าทะเลเสียหายจำนวนมาก ระบบนิเวศทางทะเลเกิดผลกระทบต่อเนื่องในทางลบ อีกทั้ง บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของพะยูน สัตว์สงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวพบพะยูนอาศัยอยู่กว่า 200 ตัว หากแหล่งหญ้าทะเลเสียหายผลกระทบต่าง ๆ จะเกิดขึ้นกับพะยูนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุผลกระทบของการขุดลอกปากแม่น้ำ สรุปว่า เกิดจากขาดการศึกษาผลกระทบก่อนการดำเนินงาน การไม่ได้ติดตั้งตะแกรงป้องกันการฟุ้งของตะกอนระหว่างการดำเนินงาน และการเตรียมความพร้อมพื้นที่ทิ้งตะกอนหลังจากดำเนินการขุดลอกแล้ว ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทำให้โครงการเกิดการชะงัก ซึ่งงานนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมเจ้าท่าในฐานะเจ้าของโครงการขุดลอก และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลรักษาทรัพยากรได้หารือร่วมกันสรุปได้ว่า ข้อมูลผลการศึกษามีหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน รวมถึง พื้นที่ทิ้งตะกอนเตรียมไว้ไม่เพียงพอ
“หากอัตราความเพิ่มขึ้นของเงิน สวนทางกับความสมบูรณ์ของทรัพยากร ความยั่งยืนย่อมไม่เกิด ทรัพยากรธรรมชาติพัง เศรษฐกิจย่อมเดินหน้ายาก การส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างสุดโต่งโดยไม่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ นับเป็นการกระทำที่ไม่ชาญฉลาดเลย” รมว.ทส. กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า ในปี 2565 กรมเจ้าท่า ได้เตรียมเดินหน้าโครงการขุดลอกร่องน้ำบริเวณปากแม่น้ำตรังอีกครั้ง เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินเรือและการพัฒนาภาคธุรกิจแถบภาคใต้ โดยครั้งนี้จะมีการขยายพื้นที่เพิ่มขนาดความกว้างของร่องน้ำจากเดิม 60 เมตร เป็น 90 เมตร และความลึกมากกว่าเดิม 1 – 2 เมตร ซึ่งหลายฝ่ายให้ขอให้ศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้เรียบร้อยก่อน พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาถึงผลกระทบ และต้องให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย โดยมี นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยกทีมคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แหล่งหญ้าทะเลบริเวณปากแม่น้ำตรังและบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง พร้อมเตรียมหารือกับชาวบ้านในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล และระบบนิเวศทางทะเล
นายวราวุธ กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติ คือ ต้นทุนแห่งการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่คำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ย่อมไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันหลายฝ่ายเริ่มวิตกกับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกต่างยกแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ รวมถึงประเทศไทย ที่ล่าสุดได้ประกาศแผนแก้ไขปัญหาความยากจน โดยรัฐบาลพยายามผนวกการดำเนินงานในทุกด้านเพื่อแก้ไขปัญหาการทรุดตัวของเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่าลืมเรื่องความสมดุลของใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและสมดุล และคงต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตอย่างจริงจัง