วันที่ 14 มิ.ย. – ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 กล่าวว่า กมธ.หลายคน ให้ความสนใจเรื่องหนี้สาธารณะ ประเด็นอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และสถานะทางการเงิน การคลัง ของประเทศไทย สืบเนื่องจากการอภิปรายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินโดยการออกเป็นพ.ร.ก. หลักๆ มี 5 ฉบับได้แก่
1.ปี 2554 สมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7.8 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน /2.ปี 2552 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มีการออกพ.ร.ก.กู้เงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท /3.ปี 2555 สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ มีการออก พ.ร.ก.น้ำ วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งกมธ.ต้องถามสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพราะ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ เป็นเงินกู้ที่ไม่มีรายละเอียดเพราะนำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวม 1.53 ล้านล้านบาท
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ที่เมื่อปี 2563 มีการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สปน.ชี้แจงว่าขณะนี้ใช้เกือบหมดแล้ว และล่าสุดรัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวม 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้ง 5 ฉบับ ตัวเลขไม่ต่างกัน ทั้งนี้ การออกเป็นพ.ร.ก.เหมือนการตีเช็คเปล่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพิ่งออกแค่สมัยนี้ และตามกฏหมายแล้วสามารถทำได้ ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย
นอกจากนี้ กมธ.ยังให้ความสนใจเรื่องการคำนวณหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ว่าจะใช้ตัวเลขไหนกันแน่ ระหว่างหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วหรือหนี้ที่กำลังจะเกิด ซึ่งปี 2564 มีเงินที่รัฐบาลเก็บไม่เข้าเป้าอีกตรงนี้จะทำอย่างไร คงต้องให้สปน.ชี้แจงต่อไป