"เคลมประกันโควิด" เปิด how to เคลมประกันอื่น ๆ ยังไงให้ได้เงิน หลังอาคเนย์ประกันภัย ไทยประกันภัย ปิดกิจการ เปิดเงื่อนไข พร้อมหลักฐานชัด ๆ เช็คเลย
ข่าวที่น่าสนใจ
“เคลมประกันโควิด” หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ล่าสุด คปภ. ได้ช่วยเหลือผู้บริโภค เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
กรมธรรม์ประกันโควิด
อาคเนย์ประกันภัย มีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ จำนวน 897,242 กรมธรรม์
- ผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหายแล้ว หรือ คนที่ติดโควิด และได้ยื่นเรียกร้องความเสียหายแล้ว ให้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะเรับช่วงจ่ายเคลมค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกัน ตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
- ผู้เอาประกันที่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องความเสียหาย หรือติดโควิดแต่ยังไม่ได้เคลมประกัน ให้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์
ไทยประกันภัย มีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ 279,531 กรมธรรม์
- ประกันโควิดที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ให้ขอรับเบี้ยประกันภัยที่เหลือคืนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะคืนเบี้ยให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่
- นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับ ใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย
กรมธรรม์ประเภทอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่ประกันโควิด)
- อาคเนย์ประกันภัย มีประมาณ 5,717,217 กรมธรรม์ ส่วนไทยประกันภัย มีจำนวน 199,016 กรมธรรม์
- ประกันภัยทั้งหมดจะถูกโอนย้ายไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 269 กรมธรรม์ ที่ลูกค้าไม่ประสงค์ใช้สิทธิในการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทอื่น คปภ. จะเร่งติดตามให้บริษัทแจ้งสิทธิ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยตัดสินใจทางเลือกว่าจะคืนเบี้ย หรือโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทแห่งใหม่
ระยะเวลาที่ต้องยื่นเอกสาร เพื่อขอรับเงินคืน สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กองทุนฯ กำหนดในประกาศ โดยกองทุนจะนำหลักทรัพย์ประกัน และเงินสำรองประกันภัยของบริษัทที่วางไว้กับนายทะเบียนมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่มีข้อโต้แย้ง และจะนำเงินของกองทุนมาจ่ายส่วนที่ขาด รวมแล้วไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อราย
- เจ้าหน้ีอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้ีตามสัญญาประกันภัย ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กองทุนฯ กำหนดในประกาศ หลังจากที่มีการนำทรัพย์สินของบริษัทจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยครบถ้วน หากบริษัทมีทรัพย์สินเหลือ จะให้เจ้าหนี้อื่น ๆ หากไม่เพียงพอ จะต้องยื่นขอชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากกองทรัพย์สินคดีล้มละลายอีกครั้ง
**ย้ำว่า เจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กองทุนประกาศกำหนด จะทำให้เสียสิทธิในการชำระหนี้ เป็นผลให้ไม่ได้รับเงินตามสัญญาประกันภัย**
เอกสารที่ต้องเตรียม ให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้
- กรมธรรม์ประกันภัย
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
หากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้
- หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
กรณีที่เจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัทฯ
ผู้เอาประกันภัย สามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้
- สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot คปภ. รอบรู้ (LINE@OICConnect)
- สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3
- สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70
- ในส่วนภูมิภาค สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง