วันที่ 8 เม.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริษัท เอซีบีดี อโกร จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 888 หมู่ 7 บ้านหนองตะมะ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายธีรวัฒน์ อังคสกุลเกียรติ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพเป็นกัปตันเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง และต่อมาตนได้เริ่มหันมาปลูกพืชกัญชง เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้ต้นกัญชงกำลังเจริญเติบโตสูงใหญ่มาก ตอนนี้เรามีโรงเรือนทั้งหมดอยู่ 4 โรงเรือน พื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร ที่เราขออนุญาตปลูกไปจำนวนประมาณ 1,500 ต้น โดย บริษัท เอซีบีดี อโกร จำกัด ปลูกเป็นโมเดลกัญชงอย่างเดียว ซึ่งความแตกต่างระหว่างกัญชากับกัญชงก็คือแตกต่างกันในส่วนของสารสำคัญที่อยู่ในช่อดอกที่เขาเรียกว่าสาร PHC ซึ่งสาร PHC นี้เราเรียกว่าสารเมา กฎหมายไทยจำแนกว่าถ้าสาร PHC ในช่อดอกมีมากกว่า 1% โดยน้ำหนัก เราจะจำแนกว่าเป็นกัญชา แต่สายพันธุ์ของเราเป็นสายพันธุ์ ที่คัดเลือก PHC มาต่ำกว่า 1% เพราะฉะนั้นจะจำแนกได้ว่าเป็นกัญชง ดังนั้นผลผลิตของเราจะไม่มีฤทธิ์มึนเมาในลักษณะกล่อมประสาท จุดมุ่งหมายของเราก็คือต้องการที่จะเป็นผู้นำในการผลิตพืชกัญชงและผลผลิตจากพืชกัญชงใน จ.ศรีสะเกษและภาคอีสาน โดยพืชกัญชงนี้สามารถนำเอาไปแปรรูปได้หลากหลาย ไล่ตั้งแต่รากขึ้นไปที่มีสรรพคุณในด้านการลดการอักเสบรักษาโรคเก๊าต์ ในส่วนของใบสามารถนำเอาไปชงเป็นเครื่องดื่มในลักษณะของชาได้ ดื่มไปแล้วจะทำให้รู้สึกว่าหลับสบาย
นายธีรวัฒน์ อังคสกุลเกียรติ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยต่อไปว่า ในส่วนของช่อดอกมันจะมีสารอีกตัวหนึ่งซึ่งเรียกว่า CBD จะไม่มีฤทธิ์ทำให้มึนเมาแต่จะมีคุณสมบัติพิเศษคือ เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายช่วยให้หลับสบาย ช่วยให้คลายเครียด จากคุณสมบัติเหล่านี้สามารถที่จะนำเอาไปทำเป็นส่วนประกอบในหลาย ๆ ส่วนได้เช่น อาหารเสริมใส่ในอาหารก็ได้ แม้แต่ผสมในเครื่องสำอางก็ได้ คือเรามองว่าพืชกัญชงนี้สามารถเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้ โดยเราต้องมุ่งเน้นไปในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะส่งเสริมสุขภาพให้กับผู้คน สิ่งที่เรามุ่งหวังคือ เราต้องการที่จะพัฒนาระบบการปลูกที่ใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อที่จะสามารถส่งเสริมให้กับเกษตรกรทั่วไปสามารถปลูกพืชกัญชงตัวนี้ได้ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของเรา ตอนนี้ต้นกัญชงที่เราปลูกสามารถนำเอามาใช้ประโยชน์ได้แล้ว เพราะว่าก่อนที่เราจะนำเอามาใช้ประโยชน์ เราต้องได้รับใบอนุญาตในการจำหน่ายก่อน ซึ่งใบอนุญาตในการจำหน่าย เราได้รับอนุญาตมาเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้มีการไปติดต่อกับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ผลิตอาหารนั้น ซึ่งลูกค้าที่รับซื้อไปจะได้นำเอาไปพัฒนาสูตรในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มต่อไป ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาจะเป็นลักษณะของวัตถุดิบเช่นใบกัญชงอบแห้ง ซึ่งตัวนี้สามารถนำเอาไปชงเป็นชาดื่มได้ และในส่วนของช่อดอกแห้งเราก็มีจำหน่ายซึ่งลูกค้าจะนำเอาไปเข้ากระบวนการสกัด เพื่อให้ได้สาร CBD ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งที่จะส่งช่อดอกไปสกัดเพื่อให้ได้สารสกัด CBD ตรงนี้เราก็ทำขึ้นมาเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของเรา โดยส่งไปจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วประเทศซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์หลายราย โดยได้ทำการเซ็นสัญญาซื้อขายมูลค่าหลายล้านบาทไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
นายธีรวัฒน์ อังคสกุลเกียรติ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยด้วยว่า บริษัท เอซีบีดี อโกร จำกัด ได้มีแผนการดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท ในระยะเริ่มต้น คือ 1. จำหน่ายวัตถุดิบจากพืชกัญชง (raw materials) และสารสกัดในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) จากพืชกัญชงสู่ผู้ผลิตกลางน้ำซึ่งนำไปใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมที่หลากหลายได้แก่ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร กลุ่มธุรกิจเครื่องสำอาง กลุ่มธุรกิจอาหารเสริมในสัตว์เลี้ยง เป็นต้น 2. สร้างแบรนด์และสินค้าจากพืชกัญชงและสารสกัดซีบีดี ที่ได้รับมาตรฐานจากคณะกรรมการอาหารและยา สู่ผู้บริโภคอย่างปลอดภัย และได้รับคุณประโยชน์สูงสุดจากสาระสำคัญ ตนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมกัญชงด้วยนวัตกรรม ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างความยั่งยืนมั่นคง ควบคู่ไปกับท้องถิ่น อีกทั้งบริษัท เอซีบีดี อโกร จำกัด ยังคงมุ่งเน้นในการสร้างมาตรฐานกัญชงให้พร้อมต่อการแข่งขันในตลาดด้วยมาตรฐานสากลระดับโลก ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการแตกต่างกันออกไป ได้แก่ น้ำมันกัญชง ซีบีดีบริสุทธิ์ , น้ำมันเมล็ดกัญชง , ใบกัญชงอบแห้งเต็มใบ, ใบกัญชงอบแห้งแบบบด และส่วนประกอบทุกส่วนของต้นกัญชง ซึ่งเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับกัญชง โดยตนจะนำเอาผลิตภัณฑ์กัญชงไปจำหน่ายในการจัดงานการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 (ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร) “เขตสุขภาพที่ 10 หายเจ็บ หายจน รวมพล คนรักกัญ” ซึ่งกำหนดจัดงานนี้ขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 10 เม.ย. 65 นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
ทางด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ ของเรา มีแนวทางนำกัญชา กัญชง มาสร้างเป็นนวัตกรรมผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวศรีสะเกษ ได้ เนื่องจากว่า จ.ศรีสะเกษ มีพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงระดับประเทศนอกจาก ทุเรียนภูเขาไฟ แล้วก็มีหอมหัวแดงและกระเทียมและที่กำลังพัฒนาอีกอย่างก็คือ กาแฟโรบัสต้าภูเขาไฟ สายพันธุ์ศรีสะเกษ เพราะ จ.ศรีสะเกษ มีดินภูเขาไฟ ที่มีแร่ธาตุสำคัญต่อการเติบโตของพืชเป็นจุดสำคัญและจุดเด่นของเรา ซึ่งกัญชา กัญชงของศรีสะเกษ ต้องเป็นกัญชา กัญชงที่มีคุณภาพ หลังจากที่มีการปลดล็อคจากการเป็นยาเสพติดแล้ว ใบ กิ่ง ก้าน ราก ลำต้น ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากการปลูกกัญชา กัญชง และผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดได้ จ.ศรีสะเกษ ของเรา มีโรงงานผลิตยาสมุนไพร โรงงานผลิตเครื่องสำอาง และโรงงานผลิตอาหาร ซึ่งสามารถนำผลผลิตกัญชาภูเขาไฟมาแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอางที่มีคุณภาพได้ เช่น ตอนนี้จังหวัดกำลังให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในการทำชากัญชง เพื่อให้ได้รับมาตรฐาน GMP เป็นการพัฒนาจากภูมิปัญญาของชุมชนจริงๆ และนอกจากนี้ก็จะมีคุกกี้กัญชา สบู่กัญชง แชมพู กัญชง ก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน GMP เช่นเดียวกัน.
ภาพ/ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ