จับตาท่าที “ปธ.บอร์ดอีสท์วอเตอร์และกปภ.” หลังองค์กรเสี่ยงวิกฤตจากผลประมูลท่อส่งน้ำ EEC

จับตาท่าที "ปธ.บอร์ดอีสท์วอเตอร์และกปภ." หลังองค์กรเสี่ยงวิกฤตจากผลประมูลท่อส่งน้ำ EEC

ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไม่แพ้กรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้าน ที่ผ่านมากว่า 1 ปี ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน เพราะการดำเนินการของคณะกรรมการตามมาตรา 36 รฟม. จนทำให้เกิดผลกระทบมากมายทางเศรษฐกิจ และทำให้ข้าราชการหลายคน กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา สำหรับการประมูลคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า / บริหารระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก หลังจากรมธนารักษ์ ล้มผลการประมูลครั้งที่ 1 และดำเนินการประมูลครั้งที่ 2 แล้วพิจารณาให้ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากกรณีดังกล่าว บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรม

ทั้งนี้จุดเริ่มของประเด็นปัญหาทั้งหมด มาจากการที่กำหนดกรอบเวลาให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ประกอบด้วยพื้นที่หลัก ๆ คือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง , ตามสัญญาสัมปทานเดิม ภายใต้ความรับผิดชอบของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสท์ วอเตอร์ คือ ผู้รับผิดชอบโครงการ ในกรอบระยะ 30 ปี หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ถูกพิจารณาว่าใกล้จะสิ้นสุด ทำให้ต้องมีการดำเนินการเตรียมจัดหาผู้รับผิดชอบมาดำเนินการในยระยะต่อไป เนื่องจากมีความสำคัญโดยตรงต่อการพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

โดยลำดับขั้นตอนสำคัญของการดำเนินงานในส่วนของกรมธนารักษ์ ปรากฎด้วยไทม์ไลน์เหตุการณ์ดังนี้

– 16 ก.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก

– 23 ก.ค.2564 เชิญชวนเอกชนที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขตามที่กรมธนารักษ์กำหนด จำนวน 5 ราย เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ
– 9 ส.ค.2564 กรมธนารักษ์ เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอ ปรากฎว่ามีเอกชน 3 ราย เข้ายื่นข้อเสนอ โดยบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์ วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เข้าร่วมด้วย

 

– 13 ส.ค.64 เอกสารการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีข้อสรุปเห็นชอบการรวมคะแนน ซองข้อเสนอที่ 2 และ 3 ในส่วน อีสท์ วอเตอร์ ได้ 173.83 คะแนน และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้คะแนน 170.10 คะแนน
– 26 ส.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีหนังสือถึงผู้ยื่นซองข้อเสนอแจ้ง ‘ยกเลิก’ การประมูลโครงการฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564

– 10 ก.ย.64 ออกประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ เป็นครั้งที่ 2 โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับปรุงประกาศเชิญชวนฯฉบับเดิม และมีหนังสือเชิญเอกชน 5 รายเดิม เข้าร่วมประชุม

 

 

– 23 ก.ย.2564 อีสท์ วอเตอร์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน และกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป พร้อมขอให้เพิกถอนประกาศ พร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และขอให้ศาลฯมีคำสั่ง ‘คุ้มครองชั่วคราว’ ให้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564

 

– 28 ก.ย.2564 เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอฯ ครั้งใหม่ (อีสท์ วอเตอร์ ระบุไม่เปิดโอกาสให้ซักถาม-ฟังคำชี้แจง)
– 30 ก.ย.2564 ประกาศผลการคัดเลือก ปรากฎว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดที่ 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ขณะที่อีสท์ วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.84 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างราว 1,480 ล้านบาท

 

– 15 พฤศจิกายน 2564 อีสท์วอเตอร์ ได้รับคำสั่งศาลปกครองกลางฉบับลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 แจ้งว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งบริษัทได้ยื่นขอต่อศาลปกครองกลางไว้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 แต่คดีในส่วนที่บริษัทฟ้องขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และเพิกถอนประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่นั้น ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางต่อไป โดยปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งยังไม่มีคำพิพากษาใด ๆ ในกรณีดังกล่าว

– 9 ก.พ.65 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ยืนยันที่จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำ EEC ให้บอร์ดที่ราชพัสดุ พิจารณา 11 ก.พ.65 ที่มีบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอประโยชน์ตอบแทนสูงสุด
– 11 ก.พ.65 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 4 ชะลอการอนุมัติผลการประมูลท่อส่งน้ำดิบ ใน EEC โดยให้รอคำพิพากษาศาลปกครองก่อน

– 12 ก.พ.65 มีรายงานข่าวว่า กรรมการที่ราชพัสดุ 4 ราย ที่ร่วมประชุมเมื่อ 11 ก.พ.65 เปลี่ยนใจเป็นให้รับรองผลการประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน หลังได้รับข้อมูลเพิ่ม ขณะที่ ‘อธิบดีกรมธนารักษ์’ ระบุ หากมีการเปลี่ยนใจจริง ให้ทำหนังสือแจ้งมา เพื่อนัดลงมติใหม่

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ขณะที่ 3 มี.ค. 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำเอกสารข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก 2.5 หมื่นล้านบาท มายื่นเพิ่มให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. หลังพบข้อมูลใหม่ หลังจากก่อนหน้าทางสมาคมฯ ได้ยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ไปแล้วเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

โดยชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดหลายประการที่ส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลอีกหลายประการ

ประเด็นสำคัญ คือ ก่อนหน้านี้ เคยมีมติครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 พบว่า ครม.เป็นผู้อนุมัติให้มีการก่อตั้ง บริษัท อีสท์วอเตอร์ ขึ้นมา โดยให้การประปาส่วนภูมิภาค เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด และให้โอนสิทธิหรือเช่าบริหารทรัพย์สินจากหน่วยงานต่างๆ มาให้บริษัทดังกล่าวดูแล เช่น ท่อส่งน้ำดอกกราย-มาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ของกรมโยธาธิการฯ ท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ของกรมชลประทาน เป็นต้น

โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ ปริมาณน้ำดิบที่ต้องจัดสรรนั้น ควรให้ความสำคัญกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอันดับแรก, การกำหนดอัตราค่าน้ำ ควรกำหนดในอัตราที่เหมาะสม ไม่ควรมุ่งค้ากำไรเกินควร และการจัดสรรน้ำควรจ่ายให้แก่อุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตการนิคมฯมากกว่าที่อยู่นอกเขตฯ

ดังนั้น จึงเห็นว่าการเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาตั้งแต่ต้น โดยนำมาแสวงหากำไรและผลประโยชน์ให้เอกชนเข้าประมูล อาจขัดหรือแย้งต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ อีกทั้งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนนำทรัพย์สินของรัฐไปแสวงหากำไรและผลประโยชน์โดยมิชอบ อันอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 อีกด้วย

เนื่องจากพบข้อพิรุธหลายประการ ทั้งการเปิดประมูล 2 ครั้ง ว่า โดยครั้งแรกพบว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด แต่คณะกรรมการกลับมีมติยกเลิกการประมูลดังกล่าวและให้ประมูลใหม่ โดยอ้างว่า TOR ที่คณะกรรมการคัดเลือกมีมติรับรองแล้วนั้นไม่ชัดเจน ทั้งๆที่คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้กำหนดและพิจารณามีมติรับรองมาแล้วก่อนที่จะให้เอกชนเสนอรายละเอียดเข้าร่วมประมูล

ต่อมามีการเปิดประมูลครั้งที่ 2 ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี เอาชนะ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่า ในวันที่ 14 มี.ค. 2565 ทางด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะ ในฐานะประธานกรรมการที่ราชพัสดุ เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ครั้งที่ 2/2565 ได้ออกมาระบุว่า ที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 3 รับรองตามที่ฝ่ายเลขาฯ หรือ กรมธนารักษ์ เสนอมา รับรองผลการประมูล ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 ส่วนอีก 2 เสียง ให้รอคำสั่งศาลปกครองกลาง ขณะที่ของดออกเสียง 1 เสียง

เนื่องจากรมธนารักษ์ ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของที่ราชพัสดุอย่างครบถ้วน 100% ให้ยืนยันการประมูลดังกล่าว เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ภาครัฐ เพราะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง บริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง กับ อีสท์วอเตอร์ ทำให้ในวันเดียวกันนั้น ( 14 มี.ค. 2565) อีสท์ วอเตอร์ ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครอง พิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราว การลงมติรับรองผลการประมูล ครั้งที่ 2 เพื่อให้กรมธนารักษ์ สามารถเซ็นสัญญากับบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างต่อไปได้ โดยไม่ต้องรอผลคำพิพากษาของศาลปกครอง

ทั้ง ๆ ที่ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 ศาลปกครอง ได้มีบันทึกคำร้อง กรณีที่ อิสวอเตอร์ ได้ยื่นขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือ กรมธนารักษ์ ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564

โดยระบุว่ากรณีนี้ หากการคัดเลือกเอกชน เพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย

ประกอบกับโครงการพิพาทมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอและทันต่อการณ์ โดยบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคตะวันออก

ดังนี้ หากการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริการสาธารณะด้านการให้บริการสาธารณูปโภค

ศาลจึงมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543

อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ของอีสท์วอเตอร์เพื่อรอการพิพากษาคดีแล้ว โดยให้เหตุผลประกอบว่า

1.ยังรับฟังไม่ได้ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้อง ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชน เพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค. 2564 และประกาศเชิญชวนเอกชน เพื่อบริหาร และดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย. 2564 เป็นคำสั่งที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย

2.กรณีผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการที่พิพาทในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการคัดเลือกฯ 2. กรมธนารักษ์ และ 3. คณะกรรมการที่ราชพัสดุ

เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และ เป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจหน้าที่ ในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญา ในการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 กฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 และ ระเบียบการกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ ที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ. 2564 โดยมิได้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จึงมิอาจนำมาตรา 119 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว มาบังคับใช้แก่กรนี้ได้

และถึงแม้ต่อมาจะได้มีการลงนามเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการที่พิพาทแล้ว แต่หากปรากฎว่าการดำเนินการเพื่อคัดเลือกคู่สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมพิจารณาเพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวได้

3.หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้

ดังนั้นเมื่อคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองที่พิพาทนั้น ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ เพราะมิได้ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันถึงแม้ว่า ศาลปกครองจะมีคำสั่งยกคำร้อง การที่อีสวอเตอร์ ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน กรณีที่บอร์ดที่ราชพัสดุ มีมติให้กรมธนารักษ์ ดำเนินการเซ็นสัญญากับบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ตามผลการประมูลครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติต้องติดตามต่อไปว่า กรมธนารักษ์จะมีการพิจารณาอย่างไร เพราะต้องถือว่าการชี้ผิดถูก ความถูกต้องเกี่ยวกับการพิจารณายกเลิกผลการประมูลครั้งที่ 1 ที่ผ่านมายังไม่ถึงที่สิ้นสุด

และกระทั่งในหน้า 13 ของคำสั่งเกี่ยวกับการวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ยังระบุด้วยซ้ำไปว่า คำร้องของอีสท์วอเตอร์ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ตามประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย. 2564 ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาว่ามีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามหลักเกณฑ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ดังนั้นจากนี้จะต้องติดตามดูกันต่อไป ว่า ผลคำพิพากษาหลักของคดีดังกล่าว จะออกมาในทิศทางใด และ หากศาลปกครอง พิพากษาให้ ทางบริษัทวงษ์สยาม ก่อสร้าง เป็นผู้ชนะ ประธานบอร์ด , บอร์ด ของ อีสท์วอเตอร์ รวมถึง การประปาภูมิภาค ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบ ก่อตั้ง อีสท์วอเตอร์ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 เพื่อดำเนินโครงการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก จะดำเนินการ ต่อไป อย่างไร ? ทั้งทางคดีความและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการก่อสร้างท่อน้ำใหม่แทนเส้นเดิม จะเกิดปัญหาหรือไม่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเงื่อนไข การขอขยายระยะเวลาในการส่งมอบ กับกรมธนารักษ์ ออกไปจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้กระทบกับ ประชาชน และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก จะเป็นไปได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เปิดตัว "TKR Connect" แพลตฟอร์มจัดหางานครบวงจร สร้างมิติใหม่รองรับแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกม.
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวกรวม 9 คน “ฉ้อโกง-ฟอกเงิน” ปลอมลายเซ็นอดีตลูกสะใภ้กู้เงิน 8 พันล้าน
ระทึกกลางดึก ไฟไหม้ "ร้านกาแฟ" เผาวอดทั้งหลัง เสียหายกว่า 7 แสนบาท
"อุตุฯ" เผย "เหนือ-อีสาน-กลาง" อากาศเย็นตอนเช้า เตือนใต้ยังรับมือฝนตก
แม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวกำลังพล ห่วงใยไปถึงบ้าน เพราะเราคือครอบครัวกองทัพบก
สวนนงนุชพัทยาเปิดเวที CHONBURI PROUD EXPO 2024 หนุน SMEs ชลบุรีสู่ตลาดโลก
“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น