ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana”โดยระบุว่า ผลการทดสอบซีรั่มซิโนแวค 2 เข็มกับสไปค์สายพันธุ์เดลต้า…
ข้อมูลนี้เป็นผลการทดลองที่ผมศึกษาโดยใช้ตัวอย่างซีรั่มของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน CoronaVac ของ บริษัท Sinovac ครบ 2 เข็มเป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้ตัวอย่างในการศึกษาจำนวน 23 ตัวอย่าง เปรียบเทียบความสามารถของซีรั่มจำนวนดังกล่าวในการยับยั้งไวรัสตัวแทนที่สร้างให้มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wuhan) และ สายพันธุ์ B.1.617.2 (Delta) ด้วยวิธีมาตรฐานเรียกว่า Pseudovirus Neutralization assay คือ การตรวจปริมาณแอนติบอดีชนิด NAb ที่สามารถยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสตัวแทนดังกล่าว ค่าที่อ่านได้ (แกนตั้ง) PVNT50 คือ ค่าที่สามารถเจือจางซีรั่มไปจนสามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ 50% เช่น 100 จะหมายถึง ซีรั่มเจือจางไป 1 ใน 100 ยังสามารถยับยั้งได้อยู่ถ้ามากกว่านั้นจะยับยั้งไวรัสเข้าเซลล์ได้ไม่ถึง 50% ขณะที่ 10 จะหมายถึง ซีรั่มเจือจางไปเกิน 1 ใน 10 ก็ไม่สามารถยับยั้งไวรัสได้ 50% แล้ว สรุปแบบง่ายๆก็คือ ค่ายิ่งสูงแสดงว่าแอนติบอดีชนิด Nab ที่ยับยั้งไวรัสได้จะยิ่งเยอะ
เมื่อนำซีรั่มมาทดสอบกับไวรัสตัวแทนที่มีสไปค์ของสายพันธุ์ดั้งเดิม จะเห็นว่า ซีรั่มส่วนใหญ่ยังสามารถยับยั้งไวรัสได้พอสมควร ถึงแม้ไม่สูงมากแต่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ตีพิมพ์มา แต่เมื่อทดสอบกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า จะเห็นว่าระดับของ NAb ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีหลายตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจวัด NAb ได้ ซึ่งบอกว่าสไปค์ของสายพันธุ์เดลต้าสามารถหนีภูมิของ Sinovac 2 เข็มได้มากพอสมควรเลยทีเดียว
ผมลงค่า Convalescent ซึ่งเป็นซีรั่มของผู้ป่วยหนักที่พบว่าส่วนใหญ่มี Nab ที่สูงพอในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ทุกชนิดเปรียบเทียบให้ดูด้วย จะเห็นว่าระดับ Nab แตกต่างกันชัดเจน
ข้อมูลนี้เป็น Data ที่ได้จากแล็บผมซึ่งใช้ตัวอย่างอาจจะไม่มาก ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนได้ จึงอยากให้ห้องแล็บอื่นๆที่มีตัวอย่างซีรั่มเยอะๆลองทดสอบดูเช่นเดียวกัน เพราะข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้…ใจลึกๆผมหวังว่าข้อมูลนี้จะไม่ถูกต้อง เพราะ ไม่ใช่ข่าวดีเท่าไหร่ถ้าผลออกมาแบบนี้จริงๆ