นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก
เรียน อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง ขอทราบความคืบหน้า ผลการสอบวิทยานิพนธ์ที่มีปัญหา
ตามที่ ผมและนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำจดหมายถึง ท่านอธิการฯ และนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อขอให้ตรวจสอบความถูกต้องของการทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง การเมืองไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม : ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐ พ. ศ. 2491 – 2500 ว่า มีความคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง และมีการอ้างอิงเอกสารที่ไม่ถูกต้อง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง เพื่อทำการสอบสวนข้อเท็จจริง นั้น
ผมและนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้ให้เวลากับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการสอบสวนมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว บัดนี้ เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร
ผมและนิสิตเก่าจุฬา ที่ติดตามเรื่องดังกล่าวใคร่ขอทราบผลความคืบหน้าของการสอบสวนเสร็จสิ้นลงแล้วหรือยัง และทางผู้บริหารจุฬาฯ จะแถลงผลการสอบสวนให้ผมและนิสิตเก่าจุฬาฯ และสาธารณชนได้เมื่อไร
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นันทิวัฒน์ สามารถ
นิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2512
ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 นายนันทิวัฒน์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า วิทยานิพนธ์มีตำหนิ
เรียนอธิการบดีจุฬา คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์และกรรมการวิทยานิพนธ์ จากการที่ อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ได้ออกมาท้วงติง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ นายณัฐพล ใจจริง ที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐ อเมริกา ว่ามีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน บกพร่อง และบิดเบือนประวัติศาสตร์ นอกจากนั้น สื่อมวลชนบางกอกโพสต์ ที่ถูกนำมาเป็นแหล่งข้อมูลในวิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เคยมีการรายงานข่าวตามที่ถูกอ้างในวิทยานิพนธ์ดังกล่าว
วิทยานิพนธ์ ระบุว่า หลังรัฐประหาร 2490 กรมขุนชัยนาทนเรนทร ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ขยายบทบาททางการเมืองโดยเข้าร่วมประชุม ครม. ในรัฐบาลจอมพล ป. บ่อยครั้ง และสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพลป. และตอบโต้ด้วยการขอเข้าร่วมประชุมองคมนตรี รวมทั้ง ยังอ้างว่า การกระทำดังกล่าวของกรมขุนชัยนาทฯ ทำให้เกิดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับรัฐบาลในขณะนั้น และใช้ถ้อยคำว่า เป็นประธานในการประชุม คณะรัฐมนตรี ประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวนี้ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่ถูกอ้างเป็นแหล่งข้อมูลได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่เคยมีรายงานข่าวดังว่า ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ไม่สบายใจต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น เนื่องจากส่งกระทบหลายประการ
ประการแรก กระทบต่อความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ที่มีการบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมือง
ประการที่สอง กระทบต่อคุณภาพ ชื่อเสียงของบัณฑิตวิทยาลัยจุฬาฯ ในการตรวจกลั่นกรองมาตรฐานของวิทยานิพนธ์ ที่จะต้องไม่บิดเบือน บกพร่องในสาระสำคัญเช่นนี้
ประการสุดท้าย วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง พาดพิงถึงสถาบันฯ ต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนถึงแหล่งที่มาและความถูกต้อง และอาจทำให้เข้าใจผิดว่า สถาบันฯ จะนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา
ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารจุฬา ตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่าปล่อยผ่าน หรือเพียงระงับไม่ให้เผยแพร่ เนื่องจาก วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก จะถูกนำไปอ้างอิงต่อไป ๆ ในฐานะแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ผ่านการรับรองจากจุฬาฯ อย่าให้เสียชื่อมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของประเทศ ผู้บริหารจุฬาฯ จะต้องทบทวนให้มีการแก้ไขวิทยานิพนธ์ให้ถูกต้อง ถึงจะเป็นเอกสารทางวิชาการได้ หวังว่า ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง เพื่อรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย