โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์
ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ได้แต่ติดตามอ่านข่าวสารตามสื่อต่าง ๆ และทราบว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือ CPC ซึ่งเป็น “พรรคอุดมการณ์” (ไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างในประเทศประชาธิปไตย) เขาจะมีการประชุมใหญ่ครั้งที่ 20 ช่วงครึ่งหลังของปีนี้
การประชุมใหญ่นี่เขาจะทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาลในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และจะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต รวมทั้งเลือกสมาชิกพรรคกลางใหม่
ผู้เข้าร่วมประชุมนี้มีมากถึงกว่า 2,300 คน ครับ ใหญ่โตมาก เขาให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศกว่า 95 ล้านคนเลือกสมาชิกเข้ามาเป็นผู้แทนมาประชุมกันโดยเขาเริ่มกระบวนการเลือกผู้แทนที่ว่านี้มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน
จากข้อมูลของสำนักข่าวซินหัวที่ผู้เขียนติดตามเป็นประจำ กระบวนการเลือกผู้แทนของเขานี้ต่างจากเลือกตั้งแบบที่เรารู้จักเยอะมากครับ ผู้เขียนจึงขอเรียกว่าการเลือกผู้แทนน่าจะดีกว่าใช้คำว่าเลือกตั้งเพราะจะสับสนได้ การเลือกผู้แทนของเขานี่ไม่ได้ให้คนทั่วไปเลือก แต่ให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่จะมีสิทธิเลือกครับเพราะเป็นการประชุมพรรค แบ่งเขตเลือกออกเป็น 38 หน่วยเลือกทั้งตามพื้นที่และตามภารกิจเนื่องจากสมาชิกมีหลายประเภทครับ
ที่น่าสนใจมากคือการเลือกผู้แทนสมาชิกนี่เข้มข้นมาก จะมีคณะกรรมการตรวจสอบประวัติผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับการคัดเลือกด้วย ไม่ได้ใช้คะแนนนิยมหรือPopular vote อย่างการเลือกตั้งบ้านเรา และผู้ซึ่งจะได้รับการเสนอชื่อมาให้เลือกกันนี้ต้องเป็นสมาชิกพรรคซึ่งมีผลงานและความประพฤติโดดเด่น มีคุณธรรมจริยธรรมสูง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สมาชิกพรรคและประชาชนทั่วไป เรียกว่าเขาดู Intregrity ของผู้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับแรกสุดครับ นอกจากนี้ก็จะต้องไม่มีประวัติด่างพร้อยใด ๆ และต้องซื่อสัตย์สุจริต
สมาชิกซึ่งไม่เข้าแก๊ปที่ว่านี้ ไม่ว่าจะความประพฤติไม่ดี ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม หรือทุจริตนี้ ต้องห้ามเสนอเลยนะครับ แถมอาจจะมีบทลงโทษอีกด้วย อย่างในกุ้ยโจวนี่เขามี Negative list สำหรับพวกที่ยังไม่ได้ทำผิดอะไรร้ายแรง เพียงแค่ละเมิดระเบียบวินัยพรรคเขาก็คัดออกแล้ว ไม่เสนอชื่อเลย นับว่าเข้มข้นมาก
อนึ่ง ที่ว่าต้องเลือกสมาชิกพรรคซึ่งมีผลงานและความประพฤติโดดเด่น มีคุณธรรมจริยธรรมสูง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สมาชิกพรรคและประชาชนทั่วไป เขาวางเป็นหลักการนะครับ ส่วนหน่วยเลือกแต่ละหน่วยจะไปกำหนดรายละเอียดให้เข้มข้นยังไงก็สุดแล้วแต่ ขอให้ได้สมาชิกที่มีลักษณะที่ว่านี้มาก็แล้วกัน บางแห่งก็มีเงื่อนไขพิเศษไป เช่น ทิเบตกำหนดว่าสมาชิกซึ่งจะได้รับเลือกต้องมั่นคงในหลักการไม่แบ่งแยกดินแดน ก็ว่ากันไปครับ
สำหรับการเกลี่ยผู้แทนพรรคทั้ง 2,300 กว่าคนนี้ เขายึดหลักว่าจะเกลี่ยให้ได้ครบถ้วนจากทุกภาคส่วนของสังคม ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า all walks of society ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ รวมถึงชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งใหญ่เล็ก และมีความทัดเทียมทางเพศด้วย น่าสนใจมาก คงแบ่งยากน่าดูเหมือนกัน
ส่วนการเลือกนี่เขาห้ามหาเสียงและซื้อขายเสียงเด็ดขาดนะครับ เอาความดีงามมาวัดกัน ไม่ใช่ความนิยมชมชอบ ใครแอบไปหว่านคะแนนนิยมหรือซื้อเสียงนี่ถ้าพรรครู้เข้ามีบทลงโทษด้วย ซินหัวเขาบอก
น่าสนใจมากนะครับกับระบบการเลือกผู้แทนที่ไม่ใช้เรื่องความนิยมชมชอบส่วนตัวหรือ Popular vote ซึ่งผู้เลือกอาจเลือกโดยมีอคติ เช่น ไม่ชอบ ก น้อยที่สุด แล้วก็ไม่อยากให้ ข หรือ ค ได้ ก็จะเลือก ก โดยไม่ดูเลยว่า ก ข ค มีคุณงามความดีอะไรบ้างความประพฤติเป็นยังไง
ถ้าระบอบประชาธิปไตยเอาผลงานหรือคุณงามความดีที่ผ่านมาของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน รวมทั้งความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม มาแบให้ประชาชนรู้บ้างก่อนเลือกตั้งก็น่าจะดีเหมือนกันนะครับ ไม่ต้องเสียเงินค่าหาเสียง ไม่ต้องมาแสดงวิสัยทัศน์หรือโต้คารมกันให้เสียเวลา และคนเลือกน่าจะใช้เหตุผลในการเลือกมากขึ้นด้วย
ประชาธิปไตยจะได้พัฒนาเป็นประชาธิปไตยแบบ “มีเหตุผล” ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบ “ประชานิยม” เสียที