วันที่ 25 เมษายน 2565เวลา 10.30 น. ที่ลาน ท้ายหมู่ บ้านหนองบัว ม.4 ต.นาดี อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ได้มีการจัดพิธีมอบกระบือ โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ โดยมีนายสุชาติ ทอนมณี นายอำเภอหนองแสง เป็นประธานประกอบพิธีฯ นายวินัย เตืองพลี ปศุสัตว์ อ.หนองแสง นำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น พร้อมด้วยนายเชิดชัย วิเชียรวรรณ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมในพิธี ก่อนที่จะพาชาวบ้านได้ที่รับโค-กระบือ กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ จะเลี้ยงดูแลโค-กระบือ ที่ได้รับพระราชทาน ในวันนี้ จะไม่นำไปทำอย่างอื่น จะเลี้ยงดูให้ดีที่สุดหากไม่ทำตามในคำสัตย์ปฏิญาณ ให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นมา แต่หากปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณ จะทำให้ ชีวิตครอบครัวมีสุขความเจริญ
นายสุชาติ ทอนมณี นายอำเภอหนองแสง กล่าวว่า โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามแนวพระราชดำริ จัดตั้งขึ้น พ.ศ.2522 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน ได้มีโอกาสได้โค-กระบือ ไว้ใช้แรงงานเป็นของตนเอง โดยวิธีการเช่า/เช่าซื้อ หรือวิธีอื่นใด ในราคาที่ถูก ต่อมาระบบทำการเกษตรเปลี่ยนไป เกษตรกรหันมาใช้เครื่องจักร ทดแทนแรงงานสัตว์มากขึ้น จึงได้เปลี่ยนรูปแบบดำเนินโครงการ เป็นการให้ยืมเพื่อการผลิต และการเลี้ยงในเชิงอนุรักษ์ เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างมากที่เกษตรกรในพื้นที่ของเรา ได้รับการพิจารณาให้ได้รับมอบโค กระบือ พระราชทาน ซึ่งเป็นช่องทางในการขยายพันธุ์ต่อไป สามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้ในอนาคต นายเชิดชัย วิเชียรวรรณ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ในการมอบ โค กระบือ ให้เกษตรกร ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนแม่พันธุ์ทั้งหมด 55 ตัว แยกเป็น โค 30 ตัว กระบือ 25 ตัว มูลค่า 1,500,000 บาท โดยแม่พันธุ์ที่ยืมไป 1 ตัว มีสัญญาระยะเวลา 5 ปี เมื่อลูกตัวแรกอายุ 18 เดือน จะต้องคืนตัวแรกให้โครงการ ลูกตัวที่เหลือจากนั้นหากมีการแพร่พันธุ์อีกกรรมสิทธิ์ถึงจะเป็นของเกษตรเอง เมื่อครบ 5 ปี จะมอบสิทธิแม่กระบือ และให้เกษตรกรอื่นต่อไป แม่พันธุ์ทั้งหมดที่นำมามอบในวันนี้ผ่านการกักกันโรคครบตามระเบียบ 15 วัน
“ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางคณะกรรมการคัดเลือกเกษตรกรที่ได้รับมอบ เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากการคัดเลือกแต่ละครั้งจะต้องมีองค์ประกอบในหลายด้านในการตัดสิน หากเกษตรกรในพื้นที่เองไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเลี้ยงดูแม่พันธุ์ได้ตามหลักเกณฑ์ ก็คงจะไม่สามารถได้รับมอบเป็นครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่บ้านเราเป็นอย่างดี และจะเป็นต้นแบบไปยังพื้นที่อื่นต่อไป จะช่วยส่งเสริมในด้านการอนุรักษ์พันธุ์โค กระบือ ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์เป็นปุ๋ยได้ ลดต้นทุนในด้านการเกษตรของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ”
นางพวงเพชร เมืองพะนอม อายุ 55ปี อยู่ บ้านเลขที่ 72 หมู่7บ้านแสงสว่าง ตำบลบ้านแสงสว่าง บอกว่า ตนเคยเลี้ยงควายมาก่อน แต่ปัจจุบัน แต่ไม่สักตัวเพราะราคาควายแพง ในวันนี้รู้สึกดีใจได้ควายพระราชทานมาหนึ่งตัว เป็นเพศเมีย จะทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้นมา จะไม่ต้องไปเช่าคนอื่นมา เพราะปัจจุบันในการเช่าควายมาไถนา1 ไร่ เท่ากับค่าจ้างรถไถนา จำนวน1 ไร่ เหมือนกัน ซึ่งจะนำควายที่ได้มาเอาไปเลี้ยงในไร่ในสวน จะได้ขี้ควาย มาทำปุ๋ย ใส่ผักสวนครัวที่ปลูกและไร่นาต้นข้าวที่ปลูกจำนวน 3 ไร่ หากควายคลอดลูกตัวแรกออกมา ก็จะเอาไปคืนหลวง โดยตนจะได้ควายตัวนี้เป็นสมบัติของตนเอง ซึ่งจะเลี้ยงจะมันตายหรือหมดแรงเลี้ยงมัน โดยได้ตั้งควายตัวนี้ว่า น้องบัวตูม นางลำปาง สาริโท อายุ54ปี อยู่บ้านเลขที่2 หมู่5 บ้านหนองประเสริฐ ตำบลทับกุง บอกว่า ตนเคยเลี้ยงแต่ควายตั้งแต่อายุ17ปี ปัจจุบันไม่มีวัวและควายสักตัวเดียว รู้สึกดีใจที่ได้วัวเพศเมีย มาเลี้ยงหนึ่งตัว หลากแม่วัวคลอดลูกออกมาตัวแรก ก็จะนำลูกวัวเอาไปคืนหลวง แล้วหากลูกวัวคลอดออกอีก ตนจะมีรายได้เสริมขึ้นมาอีก ที่สำคัญขี้วัว จะเป็นปุ๋ยเอาใส่นาข้าวที่ปลูก จำนวน7 ไร่ และนำขี้วัวเอาไปขายได้อีกด้วย คิดว่าได้วัวมาเลี้ยง จะทำให้ชีวิตครอบครัวพลิกกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ
นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี