สืบเนื่องจากการที่ กรมธนารักษ์ โดยนายประภาศ คงเอียด ได้มีหนังสือลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ถึงบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสท์ วอเตอร์ ใจความสำคัญระบุว่า ขอให้ อีสท์ วอเตอร์ ดำเนินการจัดทำบัญชี รายการทรัพย์สินที่จะต้องส่งมอบ พร้อมทั้งขั้นตอน วิธีการ ระยะเวลาในการส่งมอบ การเข้าพื้นที่ รวมทั้งรายชื่อผู้ใช้น้ำดิบและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ของโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล -หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ- แหลมฉบัง (ระยะที่ 2 ) ให้แล้วเสร็จ รวมถึงต้องดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินให้กรมธนารักษ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว
โดยอ้างด้วยเหตุว่า ศาลปกครอง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ยกคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ของอีสท์ วอเตอร์ ในกรณี คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบผลการประมูลครั้งที่ 2 พร้อมกำหนดให้กรมธนารักษ์ เดินหน้าเซ็นสัญญา กับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
และล่าสุุดมีเอกสารเผยแพร่ ลงนามโดยนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ว่า ในวันที่ 3 พ.ค. 2565 นี้ ทางกรมธนารักษ์ จะจัดให้มีการลงนามในสัญญา โครงการบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยการลงนามดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ที่เห็นชอบให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับสิทธิบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
อ้างถึง หนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค. 0310/3741 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 มีใจความระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 เห็นชอบให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก สำหรับการลงนามในสัญญาและการชำระเงินต่าง ๆ กรมธนารักษ์จะแจ้งให้ทราบต่อไป
พร้อมขอให้บริษัทฯ จัดทำแผนการดำเนินการเกี่ยวข้องกับการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ของโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่จะดำเนินการต่อจากผู้บริหารรายเดิม จัดทำแผนผังแสดงการบริหารโครงการฯ ในภาพรวมโดยละเอียด นั้น
กรมธนารักษ์จึงกำหนดให้มีการลงนามสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ซึ่งตรงนี้มีจุดสำคัญที่ต้องย้ำอีกครั้งว่า เป็นการตัดสินใจดังกล่าว กำลังจะเกิดขึ้นในขณะที่ศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษาใด ๆ ในคำร้องของ อีสวอเตอร์ และศาลปกครองระบุชัดเจนว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564
แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในโครงการที่พิพาทครั้งใหม่ ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ซึ่งปัจจุบันได้มีการพิจารณาผู้ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดแล้ว
กรณีนี้หากการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย
เนื่องจากมาตรา 119 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บัญญัติให้การฟ้องคดีไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จึงย่อมทำให้การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกครั้งแรก
ประกอบกับโครงการพิพาทมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอและทันต่อการณ์ โดยบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคตะวันออก
ดังนี้ หากการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริการสาธารณะด้านการให้บริการสาธารณูปโภค
ศาลจึงมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543