ภายหลังการประชุม ครม.แล้วเสร็จ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานแผนการจัดซื้อวัคซีน การบริการจัดการวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย รวมถึงแผนข้อเสนอและแผนรองรับของกระทรวงสาธารณสุข สำำหรับเป้าหมายการเปิดประเทศภายใน 120วัน
โดยนายอนุทิน เปิดเผยก่อนการเข้าพบนายกรัฐมนตรี ว่า จะนำข้อมูลข้อเสนอต่าง ๆของกระทรวงสาธารณสุขนำรายงานต่อนายกฯ เนื่องจากหากเดินหน้าตามแผนจะต้องมีแผนรองรับที่ดีให้กับนโยบายของนายกฯ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป้าหมายนี้ไม่เกี่ยวกับกรณีการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ที่จ.ยะลา แล้วต้องชะลอเป้าหมายนี้ออกไป
ส่วนข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ชะลอการเปิดประเทศไปก่อนนั้นเห็นว่า ต้องมาหารือกัน เพราะผู้ที่เสนอก็จะต้องนำเรื่องผ่านเข้ามาสู่ ศบค.พิจารณาอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องรับฟังเหตุและผลทั้งหมด ส่วนตัวมองว่า เมื่อนายกฯกำหนดเปิดประเทศ ภายใน 120 วันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเดินหน้าเปิดให้ได้ เพราะตามหลักแล้วจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง ความคุ้มค่า อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำงานนั้น คงจะไม่ให้นายกรัฐมนตรีอยู่เฉยๆ รอให้โควิด สูญสิ้น แล้วค่อยทำ แต่ทุกอย่างต้องกำหนดเป็นเป้าหมายไว้ ซึ่งการปิดกิจการมาแล้ว 2-3 เดือนก็ทำให้ทุกคนมีความทุกข์ไม่น้อย สำหรับเป้าหมายการกระจายวัคซีนย้ำว่าจะต้องทั่วถึง ตามแนวทางของรัฐบาลที่กำหนด วัคซีนสำหรับทุกคน (วัคซีน for all )
ส่วนที่เกิดดรามาที่ จ.สมุทรสาครนั้น นายอนุทินชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นไปตามสูตรการกระจาย ตามข้อตกลงร่วมกันของ ศบค. หน่วยงานต่างๆ และกรมควบคุมโรค ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามระบบ ขณะที่ไทยมีประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนได้วันละ 3 แสนโดส และย้ำว่ามีการจัดส่งวัคซีนในทุกสัปดาห์ และขณะนี้เมื่อมีสายพันธ์ุอินเดีย เข้ามาระบาด นักวิชาการที่ดูแลนโยบายเกี่ยวกับวัคซีน ก็พยายามศึกษาว่าต้องมีการบูทเตอร์ ฉีดวัคซีนผสมข้ามยี่ห้อหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมีความพร้อมในการจัดหาวัคซีน ให้เพียงพอ และทันเวลาสำหรับประชาชน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของวิชาการกระทรวงทำหน้าที่สนับสนุน การจะตัดสินใจอย่างไรมีคณะกรรมการทางด้านการแพทย์ ทำงานเรื่องนี้อยู่ รัฐมนตรีทำตามคำแนะนำแพทย์
นายอนุทิน ชี้แจงกรณีที่มีการวิจารณ์ถึงการจัดซื้อวัคซีนชิโนแวคแพงกว่าแอสตร้าเซเนกา ว่า ชิโนแวค สามารถจัดส่งให้ไทยได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา และยังคงส่งให้ไทยอย่างต่อเนื่อง ไทยเองก็ถือเป็นลูกค้าชั้นดีของชิโนแวค ยืนยันว่าเป็นการเจรจาจัดซื้อโดยตรง ไม่ผ่าน บุคคลอื่น ซึ่งเป็นวัคซีนที่สามารถกันไลน์ผลิตไว้ให้กับไทยได้ โดยที่ผ่านมามีการเจรจาต่อรองราคามาโดยตลอด ทำให้ราคาปรับลดลงเหลือ 15 เหรียญต่อโดสซึ่งเดิมมีราคาแพงกว่า ในขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ เช่นไฟเซอร์ ที่ทำสัญญาไว้ ยังมีการเลื่อนส่งตามลำดับ ซึ่งต้องดูสถานการณ์ด้วยว่า ไทยสามารถรอวัคซีนได้หรือไม่
นอกจากนี้สาเหตุสำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนและมีความจำเป็น ในขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกานั้น ใช้นโยบายการผลิตเชิงช่วยเหลือสังคม ไม่ได้คำนึงถึงขาดทุน กำไร และมีฐานผลิตในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆจึงถูกลง และยืนยันว่าการจัดซื้อวัคซีนของไทยเป็นการซื้อตามราคาตลาดที่ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนด ไม่มีการซื้อแพงกว่าประเทศอื่น ๆแน่นอน และระเบียบต่างๆอยู่ภายใต้กฎหมาย รัฐบาล สถานฑูตของไทยและประเทศผู้ผลิตต้องรับรู้ ยืนยันไม่มีการเอาเปรียบในเชิงพาณิชย์
จากนั้น นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการเข้านากยรัฐมนตรีว่า นายกฯสั่งการให้ดูแลเรื่องเตียงรักษาให้เพียงพอ เพราะขณะนี้มีคนไข้รอเตียงในระดับสีแดง และสีเหลืองอยู่มาพอสมควร พร้อมเน้นย้ำให้จัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และทันต่อสถานการณ์ และเป็นไปตามเป้าหมายที่นายกฯกำหนดไว้
นอกจากนี้ ทางกระทรวงได้รายงานว่า มีความเป็นไปได้ตามเป้าหมายในการฉีดวัคซีนที่ จ.ภูเก็ต ร้อยละ 70เพื่อเตรียมพร้อมเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในส่วนของสาธารณสุขก็จะทำงานอย่างเต็มที่ โดยมีมาตรการตามยุทธศาสตร์ที่จะเปิดประเทศ ใน 120 วัน โดยกระทรวงฯได้จัดทำมาตรการเพื่อประเมินความพร้อมของแต่ละจังหวัด หากจังหวัดไหนยังไม่พร้อมก็จะต้องยกระดับมาตรการขึ้นมา เช่นเรื่องการควบคุมโรค การรักษา หรือการฉีดวัคซีน ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องกำหนดเป้าหมายในการฉีดวัควีนให้ประชาชน
นอกจากนี้การควบคุมและติดตามโรคก็เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการรักษาผู้ที่ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ต่างๆให้มีประสิทธิภาพ ก็จะนำไปสู่การเปิดประเทศได้ โดยจะมีการระบุเป็นจังหวัด
ทั้งนี้คาดว่าแต่ละจังหวัดจะทำเสร็จไม่พร้อมกัน แต่ในส่วนของจังหวัดที่พร้อม ก็พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ก่อน ตามแนวทาง ซีล รูท หรือการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดเกี่ยวกับการควบคุมโรค โดยที่เล็งๆไว้มีที่ จ.กระบี่ จ.พังงา และ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หรือ จังหวัดอื่นๆที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจ ก็จะเร่งรัดให้แต่ละจังหวัดเป้าหมายมีความพร้อมให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน คลัสเตอร์ใหญ่ที่ระบาดที่ จ.ยะลา ก็มีการควบคุมติดตามโดยขณะนี้รู้ตัวบุคคลที่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว โดยได้เข้าสู่กระบวนการกักตัว
พร้อมย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนนโยบายการเปิดประเทศ และทำตามนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกกดดันใดๆ เพราะข้าราชการต้องทำงานตามนโยบาย ส่วนตัวทำได้ทุกอย่าง และพยายามชี้แนวทางปฎิบัติให้ชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันมีเวลาให้ทำงานพอสมควร