"ChulaCov19" คนไทยเตรียมเฮ วัคซีนฝีมือไทยล็อตแรกออกแล้ว ผลวิจัยชี้สกัดไวรัสดีกว่า mRNA ทุกตัวในปัจจุบัน
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยความคืบหน้าเกี่ยวกับ “ChulaCov19” โดยระบุว่า วัคซีนสัญชาติไทยตัวนี้เป็น mRNA ภาพรวมถือว่าเป็นข่าวดี โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะแรก : ให้โรงงานในสหรัฐอเมริกาผลิตล็อตแรก ข่าวดีว่าผ่านการพิสูจน์ในอาสาสมัครระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้ว พบว่าปลอดภัย กระตุ้นภูมิได้สูงเป็นที่น่าพอใจ ภูมิสูงกว่าไฟเซอร์อย่างชัดเจน
- ระยะที่สอง : การผลิตวัคซีนโดยบริษัทไบโอเน็ตเอเชีย สามารถผลิตวัคซีนล็อตแรกในประเทศไทย ผ่านการประกันคุณภาพแล้ว ทีมวิจัยได้ส่งเอกสาร ข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้คณะกรรมการอาหารและยาอนุมัติให้ดำเนินการทดสอบในอาสาสมัครในระยะที่ 1 และระยะที่ 2
ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจาก อย.ให้เริ่มทดสอบในอาสาสมัครได้ คาดว่าน่าจะได้รับคำตอบในเร็ว ๆ นี้ หากสามารถทดสอบได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็คาดว่าน่าจะขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ภายในปลายปี 2565
ศ.นพ.เกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า “สถานการณ์ระบาดในประเทศเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่การพัฒนาวัคซีนของทีมวิจัยก็ไม่ได้หยุด เราอยากเห็นวัคซีนรุ่นที่ 1 ที่ผลิตโดยคนไทยที่ตอนนี้พัฒนากันอยู่ 3 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนคณะแพทย์จุฬาฯ
- วัคซีนใบยา
- ฃวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.)
สามารถขึ้นทะเบียนได้ก่อน อย่างน้อย 1 ชนิด หรือได้ทั้งหมดก็จะยิ่งดี โดยวัคซีนรุ่นที่ 1 ตามขั้นตอนก็ควรได้รับการขึ้นทะเบียนก่อน ต้องผ่านการพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัย ในระหว่างที่ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนรุ่นที่ 1 เราก็มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอนไปพร้อมกัน เพื่อรอการขึ้นทะเบียนในลำดับต่อไป
ที่สำคัญการที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง ตั้งแต่การคิดค้น ออกแบบ ทดสอบ และผลิตได้ในโรงงานในประเทศ ทำให้เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หากเกิดการระบาดของโควิด-19 กลับมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนหรือเกิดโรคระบาดใหม่ ๆ ขึ้น เราก็จะสามารถพัฒนาวัคซีนได้เองในระยะเวลาที่เร็วขึ้น เพราะ เราสามารถพัฒนาได้ครบห่วงโซ่ด้วยตัวเราเอง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง