ลูก "กัดเล็บ ดูดนิ้ว" อันตรายกว่าคิด อย่านิ่งเฉยเด็ดขาด หากไม่อยากให้ลูกเสียบุคลิกในอนาคต ทันตแพทย์เตือน ดูแลอย่างใกล้ชิด
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง การ “กัดเล็บ ดูดนิ้ว” มือของเด็ก เป็นพฤติกรรมที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและหมั่นใส่ใจ พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและฟัน เช่น
- ทำให้ฟันหน้ายื่นหรือฟันไม่สบกัน
- ฟันสึกมากกว่าปกติ
- ฟันห่าง
- มีการกลืนผิดปกติ จากการใช้ลิ้นดันฟันหน้า
การแสดงออกด้วยพฤติกรรมดูดนิ้ว อมมือ หรือกัดเล็บ อาจเกิดจากภาวะที่เด็กมีความกังวล จึงทำเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ของตัวเอง และบางพฤติกรรมอาจทำให้กลายเป็นนิสัยติดตัวลูกไปจนโต นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อโรคที่ติดมากับซอกเล็บหรือนิ้วมืออีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรนำบุตรหลานพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อตรวจสุขภาพฟัน และฝึกลูกให้เป็นนิสัย เพราะ การใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างถูกวิธีตั้งแต่วัยเด็ก จะช่วยส่งผลต่อสุขภาพในช่องปากที่ดีในอนาคตเมื่อเข้าสู่วัยทำงานหรือวัยผู้สูงอายุอีกด้วย
ทันตแพทย์หญิงสุมนา โพธิ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมที่เด็กดูดนิ้วมือ กัดเล็บ กัดริมฝีปาก หรือใช้ลิ้นดุนฟัน หากผู้ปกครองพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว ควรฝึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก เพราะ อาจส่งผลต่อการเรียงตัวของฟัน เสี่ยงต่อการเกิดฟันสึก ฟันห่าง ฟันไม่สบกัน และในระยะยาว อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการบดเคี้ยวได้
หากพบว่าลูกมีฟันที่ล้มเอียง ผิดรูปทรง ควรได้รับการรักษาทางทันตกรรม เพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้น การดูแลสุขภาพช่องปาก ควรดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่ระยะฟันน้ำนม เพราะ จะช่วยให้ฟันแท้ขึ้นในตำแหน่งที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาการบดเคี้ยว สามารถออกเสียงได้ชัดเจน ซึ่งหากเกิดปัญหา หรือมีการสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด อาจทำให้ฟันแท้ ซ้อนเก หรือขึ้นไม่ได้จนกลายเป็นฟันฝังได้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่อายุ 6 เดือน หรือเมื่อมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก เพื่อรับคำแนะนำในการแปรงฟัน การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธี การปรับพฤติกรรมการบริโภค เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และตรวจสุขภาพฟัน
คำแนะนำ
- ควรเริ่มแปรงฟันทันทีเมื่อเด็กมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- เลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ขนละเอียด หัวแปรงต้องมีขนาดพอดีกับช่องปากเด็ก
- ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1,000 ppm ในปริมาณที่เหมาะสมในเด็กแต่ละช่วงอายุ
- ควรพาบุตรหลานไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุก 3-6 เดือน
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง