วันที่ 27 มิ.ย. 64 นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ “TOPNEWS” โดยอยากขอให้รัฐบาล จ้างผู้ประกอบการร้านอาหาร ทำข้าวกล่องส่งแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่ถูกปิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงชุมชนต่างๆ ที่ยังต้องกักตัว และโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น ซึ่งหากเกิดการจ้างงานในส่วนนี้ ก็จะสามารถช่วยร้านอาหาร ช่วยแรงงานให้ยังอยู่ในระบบได้ รวมถึงตลาด สินค้า หรือวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งทำให้เงินมีการหมุนเวียนในระบบได้
ซึ่งเมื่อเขาต้องกินข้าวอยู่แล้ว ทำไมรัฐบาลไม่จ้างเรา จ้างเราร้านอาหารสิ ทำข้าวกล่องส่งเขา เงินข้าวกล่องสมมติว่าวันละ 2 แสนกล่อง กล่องละ 50 บาท พี่ก็จะหมุนเวียนร้านอาหาร ทำอาหารร้านละสัก 200 กล่อง คนนึงอาจจะได้ 7 วัน 10 วัน ก็จะเกิดเงินหมุนเวียนได้ รัฐบาลจะใช้เงินเดือนละ 300 ล้าน อันที่หนึ่ง คือช่วยผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการก็พยุงการจ้างงาน ตลาดก็ขายของได้ ทุกอย่างก็จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมา
นางฐนิวรรณ ยังได้กล่าวถึงมาตรการควบคุมโควิด-19 โดยให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เปิดเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เริ่ม 28 มิถุนายน ว่า รอบนี้ มันเป็นเรื่องช็อก และไม่มีใครคาดคิด เนื่องจากผู้ประกอบการหวังว่า หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ จะทำให้สามารถเก็บเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในร้านได้
ก่อนหน้านี้ รัฐมีการผ่อนคลายมาตรการเริ่มตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2564 ให้จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้านที่เป็นห้องปรับอากาศไม่เกิน 50% ของจำนวนที่นั่งปกติ
ซึ่งเป็นมาตรการที่นำเสนอขึ้นมาโดยไม่มีแผนรองรับ มันทำให้พวกเรา เด็กดีทั้งหลายปรับตัวไม่ทัน ก็เลยโวยวายกันเต็มไปหมดเลย อีกไม่กี่วันมันจะถึงสิ้นเดือนแล้วไง ทุกคนก็หวังว่าจะได้เงินจากนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน จากวันที่ 21 (มิ.ย.) ที่ผ่อนคลายมาตรการ 10 วันนี้ก็คงพอเก็บเงินอะไรได้ ไว้จ่ายเงินเดือนลูกน้อง จ่ายค่าเช่า แต่พอมันเกิดแบบนี้ มันก็แบบพลิกฟ้า พลิกดินเลย ทุกคนก็ไม่ไหวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความหวัง หลังทราบว่าวันนี้ (28 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจ เพื่อหามาตรการช่วยร้านอาหาร
รวมถึงล่าสุด ได้รับการประสานมาจากทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ว่า ธนาคารมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท พอจะเอามาช่วยร้านอาหารได้ ซึ่งได้คุยในหลักการกันแล้วว่า เป็นวงเงินของทางธนาคาร แต่อาจจะขอนำเข้าครม. เพื่อขอใช้วงเงินในส่วนนี้ช่วยร้านอาหาร โดยอาจจะเป็นการปล่อยสินเชื่อคนละ 2 แสนบาท หรือ 3 แสนบาท บรรเทาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยใช้ภ.ง.ด.90 และดูว่าต้องการเอาเงินไปทำอะไร เช่น ไปจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เงินเดือนพนักงาน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้เข้าพบนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสํานักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ( สภาพัฒน์) เพื่อเสนอมาตรการเร่งด่วนที่ขอให้สภาพัฒน์ พิจารณาเพื่อนําข้อเสนอนี้ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ประกอบด้วย
1. ขอตั้งวงเงินเป็นโครงการพิเศษ 30,000 ล้านบาท โดยใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำ 100 % รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท พิจารณาจากรายได้ในปี 2561-2562 โดยมีนิติบุคคล ( ภ.ง.ด.50) จํานวน 15,000 ราย( ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า กระทรวงพาณิชย์) และการจ่ายภ.ง.ด.90 ประเภทบุคคล จํานวน 100,000 ราย
2. ตั้งคณะทํางานร่วมแก้ปัญหาธุรกิจอาหารเพื่อเสนอแนวทางฟื้นฟู ทั้งวงจรธุรกิจอาหาร เนื่องจากธุรกิจอาหารมีความ แตกต่างที่หลากหลาย รัฐบาลสามารถติดตามให้การช่วยเหลือและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งยังไม่เคยมี คณะทํางานชุดนี้เกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย โดยสภาพัฒน์ เป็นผู้ดําเนินการหลัก เชิญทุกภาคส่วนร่วมเป็นคณะทํางาน
3. ในระยะเวลาอันเร่งด่วน ขอเสนอให้ใช้ศูนย์ บสย.FA Center ภายใต้การกํากับของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่ร้านอาหาร ทําบัญชีภาษีให้ถูกต้อง และมีโอกาสยกระดับจากบุคคลเป็นนิติบุคคลต่อไป