กว่า 1 ปีแล้วที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 142,789 ล้านบาท ( ตัวเลขประเมิน ปี 2563 ) แยกเป็นมูลค่างานโยธา ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และอีก 3 หมื่นล้านบาท เป็นเงินลงทุนสำหรับระบบเดินรถทั้งเส้นทาง ระยะยะทางรวม 35.90 กม. ภายใตัความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เกิดสารพัดปัญหา ไม่สามารถดำเนินการจัดหาผู้รับผิดชอบโครงการได้ และทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายให้กับประเทศหลายหมื่นล้านบาท ไม่นับรวมอีกสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับการฟ้องร้องเป็นคดีปกครอง คดีอาญา กับหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ตามลำดับ
ล่าสุด รฟม. แจ้งกำหนดเปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทอีกครั้ง ในช่วงระหว่าง วันที่ 27 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2565
อย่างไรก็ตามกับกรณีของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่รฟม.จะเริ่มต้นเปิดประมูลครั้งใหม่ มีเหตุต้องพิจารณาร่วมกันต่อไปว่า จะยังสมควรให้ผู้บริหารรฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 (บางคน) ที่เคยร่วมกันสร้างปัญหา ให้รับผิดชอบต่อไปอีกหรือไม่ เป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมไทย ต้องพิจารณาร่วมกันถึงความเหมาะสม จากไทม์ไลน์ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เกิดขึ้น และความล่าช้ากว่า 1 ปีนี้ จากการประเมินของสภาพัฒน์ ระบุชัดเจนคิดเป็นค่าเสียโอกาสของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในด้านต่าง ๆ ทั้งการประหยัดเวลาการเดินทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ยานพาหนะ และ การลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ถือเป็นมูลค่ากว่า 4.6 หมื่นล้านบาท
เริ่มจาก 1. วันที่ 20 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 22 เม.ย. 2563 รฟม.เปิดรับฟัง ความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน หรือ ทีโออาร์ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
2.วันที่ 3 – 9 ก.ค. 2563 รฟม.โดย คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดทีโออาร์ เพื่อจัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) พร้อมรายละเอียดการประกาศ เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ
3.วันที่ 10 – 24 ก.ค. 2563 รฟม. จำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน หรือ RFP ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม. พร้อมกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกันยายน 2563
4.วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 วันสุดท้ายของการจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน สรุปว่ามี 10 บริษัทเอกชน ให้ความสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ประกอบด้วย
1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF)
9. บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (ประเทศจีน)
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด
5.วันที่ 21 สิงหาคม 2563 รฟม.แจ้งใช้หลักเกณฑ์ประเมินการประมูลใหม่ โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดแถลงข่าวอ้างที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีข้อสรุปว่าจะปรับเกณฑ์การพิจารณา คัดเลือกการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ใหม่ทั้งหมด
โดยเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค (สัดส่วน 30 คะแนน) และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงิน (สัดส่วน 70 คะแนน) มาพิจารณารวมกัน ทำให้ต้องขยายเวลายื่นเอกสารประกวดราคาจาก 60 วัน ไปอีก 45 วัน หรือจากกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 23 ก.ย.2563 เลื่อนไปเป็นวันที่ 6 พ.ย.2563 เพื่อให้เอกชนมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่