โครงการประมูลท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก บานปลายหนัก การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสด ของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ถาม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับการประมูลโครงการท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กรมธนารักษ์ กำลังรับผิดชอบ และเกิดข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส ในการประมูลคัดเลือกในครั้งนี้ พร้อมกับระบุว่า พื้นที่อีอีซีหรือพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และเป็นพื้นที่ที่รัฐบาล หลายๆ รัฐบาลตั้งใจที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดปัจจับน ได้มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เป็นจำนวนมาก
นายยุทธพงศ์ ย้ำว่าเรื่องที่ตนจะสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานที่ราชพัสดุ คือเรื่องท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก มีท่อหลักๆอยู่ 3 ท่อ เริ่มตั้งแต่ส่งน้ำเส้นที่ 1 โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย เริ่มตั้งแต่อ่างเก็บน้ำดอกกลาย มายังมาบตาพุด ไปยังสัตหีบ กรมธนารักษ์ได้จ้าง บริษัทอีสต์ วอเตอร์ ผู้บริหาร และสัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตรงนี้เป็นปัญหาและมีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการประมูล
ท่อส่งน้ำเส้นที่ 2 โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ กรมธนารักษ์ได้รับมอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อปี 2541 กรมธนารักษ์ก็ให้บริษัทอีสต์ วอเตอร์ บริหาร ไปพลาง
ท่อส่งน้ำสายที่ 3 คือโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ แหลมฉบัง ระยะที่ 1 ตั้งแต่หนองค้อไปถึงแหลมฉบัง เส้นนี้เป็นเส้นที่มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีท่าเรือ มีประชาชนที่อยู่อาศัย มีโรงแรมมีเขตอุตสาหกรรมหนัก ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก กรมธนารักษ์ได้รับมอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อปี 2540 และกรมธนารักษ์ ก็ได้ให้ บริษัทอีสต์ วอเตอร์ บริหาร ทั้งหมดเป็นการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก หรืออีอีซี
จากนั้นนายยุทธพงศ์ ได้โชว์เอกสาร โดยระบุว่าโครงการนี้มีความผิดปกติ ในระเบียบที่ราชพัสดุ ของกระทรวงการคลัง ที่มีมูลค่าเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไป เวลาจะดำเนินการต้อง”ประกวดราคา” ก็จะใช้”วิธีการประมูลทั่วไป” แต่โครงการท่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่กรมธนารักษ์กำลังดำเนินการคัดเลือก ขณะนี้ไป “ใช้วิธีการคัดเลือก” โครงการดังกล่าวไปจัดจ้างที่ปรึกษาในการศึกษา โดยระบุว่า มีบุคคลสำคัญอันดับ 1 เป็นผู้จัดการโครงการ
นายยุทธพงศ์ ระบุด้วยว่าในระเบียบที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลัง ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาที่ราชพัสดุ ที่มีราคาเกิน 500 ล้านบาท ปี 2564 ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาในระเบียบบอกว่าให้ใช้วิธีที่ 1 คือ วิธีการประมูล หมายความว่า การที่เจ้าของหน่วยงานโครงการประกาศเชิญชวนเอกชนทั่วให้เข้ายื่นข้อเสนอ คือ วิธีการประมูลทั่วไป ถ้าดำเนินการไม่ได้ ไม่มีผู้เสนอ ถึงไปสู่วิธีการที่ 2 คือ วิธีการคัดเลือก จะเชิญเฉพาะราย และมีไม่ต่ำกว่า 2 ราย มาให้หน่วยงานได้คัดเลือก วิธีที่ 3 ถ้าคัดเลือกไม่ได้ ถึง ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง หรือ วิธีพิเศษ
นายยุทธพงศ์ ตั้งคำถามทำไมกรมธนารักษ์ ถึงไม่ ใช้วิธีการประมูลทั่วไป ไปเลือกใช้ วิธีการคัดเลือก และไปเลือกเฉพาะบริษัทที่มีคุณสมบัติ แต่เป็นบริษัทขนาดเล็ก เช่น บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด, บริษัทอีสวอเตอร์, บริษัทวิค มาแข่งขัน ทำไมไม่เรียกบริษัทที่มีคุณสมบัติใหญ่ ๆ เช่น บริษัท ช. การช่างที่มีบริษัททำน้ำประปาชื่อ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ที่มีบริษัททำน้ำประปา ชื่อบริษัท อาควาไทย จำกัด บริษัทซิโน-ไทย หรือบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
พร้อมตั้งคำถามว่าหากใช้วิธีการคัดเลือก ทำไมไม่เรียกบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เข้าคัดเลือกเพื่อให้เกิดการแข่งขันและให้รัฐได้ประโยชน์