เพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล แสดงความคิดเห็นกรณี เด็กอายุ 12 ปี เสียชีวิตหลังจากผ่าไส้ติ่ง ที่รพ.บุรีรัมย์ ระบุว่า กรณีไส้ติ่งเสียชีวิตควรทบทวนแก้ไข จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ความเห็น คำวิจารณ์มากมาย สามารถสรุปได้ว่า สิ่งที่แทบทุกคนเห็นตรงกันก็คือ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการแก้ไข
โรงพยาบาล มีความ ‘บกพร่อง’ ที่ทำให้ เด็กคนนี้ได้รับการรักษาที่ล่าช้าไป ทั้งหมดนั้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหมอ เป็นบุคลากรการแพทย์ รวมทั้งผมก็เห็นตรงกันหมด แต่มันมีบางประเด็น ที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งผมอยากจะปรับความเข้าใจกันสักหน่อย ย้ำอีกที ผมเองก็เห็นว่า กรณีเคสนี้มีช่องโหว่ บกพร่องแน่นอน แต่บางประเด็นต้องปรับความเข้าใจกันก่อน
#เคสอื่นเสร็จก็ควรผ่าไส้ติ่งต่อ ตามคำแถลง มีเคสผ่าตัดอยู่ 3 เคส เคสไส้เลื่อนอุดตันจนเน่า ,เคสผ่าคลอด ซึ่งเด็กมีสัญญาณบ่งบอกว่าอยู่ในภาวะอันตราย และสุดท้ายเคสกระดูกหัก มีแผลเปิด ซึ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อในกระดูก
แต่ 3 เคสนี้ เป็นเคสศัลยกรรม 1 เคส (เคสไส้เลื่อน) เคสหมอสูติ 1 เคส (ผ่าคลอด) เคสหมอออร์โธ – ศัลยกรรมกระดูก 1 เคส ( กระดูกหัก) โดยทั่วไป นอกเวลาราชการ จะมีหมอขึ้นเวรแต่ละแผนก เพียง 1 คน (วันที่ 29 พ.ค. คือ วันอาทิตย์
รพ.ศูนย์ รพ.จังหวัด มีห้องผ่าตัดเป็นสิบ แต่อย่าลืมว่าหมอขึ้นเวรแค่ แผนกละ 1 คน) ดังนั้น หมอที่จะผ่าตัดเคสไส้ติ่ง ก็คือ หมอคนที่ผ่าเคสลำไส้อุดตัน เพราะฉะนั้นเคสอื่นผ่าตัดเสร็จ ก็ใช่ว่า จะนำ เคสไส้ติ่งเข้าไปผ่าได้ ยกเว้นว่า รพ. นั้นๆ มีหมอศัลย์ ขึ้นเวรมากกว่า 1 คน หรือมีแพทย์ประจำบ้านฝึกหัด , มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (หรือเรียก หมออินเทิร์น หมอจบใหม่) ที่สามารถทำการผ่าตัดได้ เปิดห้องผ่าตัดไปได้เลย