กลายเป็นปัญหาแทรกซ้อนเพิ่มเติมขึ้นมา ขณะที่บริษัทอีสวอเตอร์ฯ กำลังเจอคู่แข่งสำคัญ อย่าง บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด แย่งชิงโครงการบริหารจัดการ ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ถึงขั้นมีความพยายามกดดันให้มีการเซ็นสัญญาในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 นี้ ตามที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ แม้ว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะสั่งการขยายเวลาอีก 30 วัน ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในสิ้นทุกข้อสงสัยต่าง ๆ
โดยเฉพาะกรณีที่ตัวแทนผู้ถือหุ้นได้ยื่นเอกสาร คำร้องต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ตรวจสอบเรื่อง กระบวนการพิจารณาแต่งตั้งซีอีโอ บริษัทอีสวอเตอร์ เนื่องจากพบหลายประเด็นสงสัย ในการวัดผลคุณสมบัติผู้สมัคร ซึ่งมีข้อมูลประกอบว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท อีสวอเตอร์ ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง และความเห็นของคณะกรรการสรรหาฯ ที่ให้ความสำคัญ หลักเกณฑ์การสรรหา ทั้ง 4 ด้าน คือ ความถนัดด้านภาษาอังกฤษ , ทัศนคติการทำงาน , ความพร้อมต่อการทำงานในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ บุคลิกภาพ เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นตำแหน่งสำคัญ ที่จะต้องมีความสามารถทั้งด้านบริหารธุรกิจ บริหารบุคคล บุคลิกภาพ รวมทั้งการสื่อสารในระดับสากล เพราะปัจจุบันบริษัทมีนักลงทุน และผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ
ขณะที่ บริษัทอีสวอเตอร์ เอง ได้ส่งเอกสารยืนยัน กับ Top News ว่า กระบวนการสรรหาฯซีอีโอ รอบที่ผ่านมา เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยมี คณะกรรมการจำนวน 12 คน ร่วมกันพิจารณา และการพิจารณาคัดเลือก ไม่เกี่ยวข้องความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคณะกรรมการ บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ (UU) และ บมจ.อีสท์ วอเตอร์ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ (8 มิ.ย.65 ) ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” ได้เข้ายื่นคำร้องเพิ่มเติมกับเลขาธิการฯ ก.ล.ต. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการและบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1. นางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัท
2. พลเรือเอก สุชีพ หวังไมตรี ประธานคณะกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
3. นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
4. คณะกรรมการบริษัท ของบริษัทฯ
โดยเอกสารที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. มีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนา “สระสำรองน้ำสระสำนักบก” ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี เนื่องจากเข้าข่ายฝ่าฝืน หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ เรื่องความรับผิดชอบต่อคู่ค้า รวมถึงมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเงื่อนไขสัญญา หรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล และไม่มีวิธีปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ
อีกทั้งยังไม่เข้าใจบทบาทและไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบ ในฐานะผู้นำที่ต้องกำกับดูแลให้บริษัทมีการบริหารจัดการที่ดี ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย
รวมถึงคณะกรรมการของบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลให้กรรมการทุกคนและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง (duty of care) และซื่อสัตย์สุจริตต่อองค์กร (duty of loyalty) และดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ
ทั้งนี้ตัวแทนผู้ถือหุ้น บริษัทอีสท์ วอเตอร์ ยังระบุด้วยว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง อันได้แก่ ประธานคณะกรรมการบริษัท , ประธานคณะกรรมการการลงทุน , กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการบริษัท อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 89/7 มาตรา 89/8 มาตรา 89/10 และมาตรา 89/11 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 85 มาตรา 88 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งจะมีความรับผิดรับโทษ ดังต่อไปนี้
– ส่งคืนประโยชน์ทั้งหมดที่บุคคลได้ไปโดยมิชอบให้แก่บริษัท ตามมาตรา 89/18 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
– ระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท และหากได้กระทำไปโดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 281/2 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
– มาตรการลงโทษทางแพ่ง ตามมาตรา 317/1 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
– ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับบริษัทฯ ตามมาตรา 85 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
– ระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 203 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
โดยผู้ถือหุ้นได้นำจัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. จำนวน 8 รายการ รวมทั้งสิ้น 108 หน้า เพื่อให้มีการพิจารณาในประเด็นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างมีพิรุธ ไม่โปร่งใส พร้อมระบุรายละเอียดเป็นไทม์ไลน์ประกอบดังนี้
1. ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 สระสำรองน้ำสระสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี ของ “อีสท์ วอเตอร์” เกิดความชำรุดเสียหาย และต่อมาอีก 22 เดือน จึงได้มีการประกาศประชาสัมพันธ์เพื่อคัดเลือกราคาเมื่อ 30 มิถุนายน 2564
2. ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ขออนุมัติเห็นชอบรายชื่อผู้มีสิทธิเสนอราคา จำนวน 5 ราย แต่ในเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ยื่นซองเสนอราคาเพียง 2 ราย ไม่ครบตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง จึงขออนุมัติคัดเลือกราคาจัดหาผู้รับจ้าง (เพิ่มเติม)
3. ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ไม่เชิญผู้รับจ้าง (บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างออกแบบเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างในโครงการสระสำนักบก โดยแผนกจัดซื้อของ “อีสท์ วอเตอร์” ให้เหตุผลว่าขัดกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และ “อีสท์ วอเตอร์” ยังได้ปฏิเสธการขายแบบ ไม่ยอมให้ผู้รับจ้าง เข้าร่วมการคัดเลือกราคา โดยอ้างเหตุผลว่าจะขัดต่อหลักความเป็นธรรมและการแข่งขันที่เท่าเทียม
4. ช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ปลายเดือนตุลาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างตามกระบวนการได้
5. ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 “อีสท์ วอเตอร์” กลับมาอนุมัติจัดจ้างผู้รับจ้างที่เป็นผู้ออกแบบงานดังกล่าวโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กลับคำกลืนน้ำลายตนเองเพื่อจ้างผู้รับจ้างที่บริษัทฯ เคยแสดงความเห็นว่าเป็นผู้รับจ้างที่ขาดคุณสมบัติเพราะละเมิดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและขัดกับความเป็นธรรมและการแข่งขันที่เท่าเทียม
6. ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 “อีสท์ วอเตอร์” ตรวจพบว่าผู้รับจ้างจัดส่งเอกสารหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นของปลอม จึงแสดงว่าผู้รับจ้างขาดความน่าเชื่อถือทางการเงินที่ไม่สามารถจัดหาเอกสารค้ำประกันของธนาคารได้ตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และขาดความน่าเชื่อถือเรื่องความสุจริต (Good faith) ในการทำธุรกิจ
7. ช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 “อีสท์ วอเตอร์” อะลุ่มอล่วยดึงดันจ้างผู้รับจ้างต่อไป และปรับปรุงผ่อนผันเงื่อนไขสัญญาจ้างให้เข้ากับลักษณะเงื่อนไขของผู้รับจ้าง โดยปกติต้องส่งมอบหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร 2 ฉบับ คือ 1. ค้ำประกันสัญญาร้อยละ 5 และ 2. ค้ำประกันการเบิกเงินล่วงหน้าร้อยละ 10 ซึ่ง แต่ “อีสท์วอเตอร์” อนุโลมให้ผู้รับจ้างวางแคชเชียร์เช็คเพื่อค้ำประกันสัญญาร้อยละ 5 โดยไม่ต้องวางแคชเชียร์เช็คเพื่อค้ำประกันการเบิกเงินล่วงหน้าร้อยละ 10
ผู้ถือหุ้นจึงต้องการให้มีการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว เพราะมีแนวโน้มว่า “อีสท์ วอเตอร์” ดำเนินการโดยไม่โปร่งใส มีขั้นตอนที่ละเว้นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัท มีการตกลงจ้างผู้รับจ้างที่ขาดความน่าเชื่อถือทางการเงิน โดยเฉพาะอาจมีการทิ้งงานในอนาคตหรือดำเนินการล่าช้าได้ เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน และการดำเนินการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันดังกล่าวก็ล่าช้า
รวมถึงการประชุมตัดสินหาแนวทางก็ล่าช้าเสมือนจงใจประวิงเวลาให้ขยายออกไป เพื่อใช้เป็นเงื่อนเวลาเป็นข้ออ้าง และข้อจำกัด ประกอบการตัดสินใจว่า จำเป็นจะต้องจ้างผู้รับจ้างรายนี้เพื่อไม่ให้งานปรับปรุงต้องล่าช้า ซึ่งพฤติการณ์ที่มีพิรุธนี้ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่าได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือไม่ คณะกรรมการและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง (duty of care) และซื่อสัตย์สุจริตต่อองค์กร (duty of loyalty) หรือไม่ อย่างไร
พร้อมกันนี้ยังได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ประกอบการตรวจสอบการดำเนินการของประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหา “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” ของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) รวม 15 รายการ จำนวนรวม 236 หน้า เพื่อการติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอีกด้วย