เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 มิถุนายน ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ มีการจัดงาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” ภายใต้แนวคิดกัญชาคืนชีวิตสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงาน มอบนโยบายการดำเนินงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยมีประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จาก จ.บุรีรัมย์และใกล้เคียงเข้าร่วมฟังนโยบายในครั้งนี้มากกว่า 30,000 คน
อนุทิน ประกาศความสำเร็จภูมิใจไทยนโยบายกัญชา ฝากประชาชน อสม.เลือกใช้กัญชาในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่าไปใช้ในทางที่ผิดมอมเมาไม่ทำมาหากิน
ข่าวที่น่าสนใจ
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับเรื่องกัญชาเสรีทางการแพทย์ที่เริ่มต้นจากชาวบุรีรัมย์ วันนี้ขอไม่พูดตามสคริปต์ แต่ขอพูดจากใจว่า ขอขอบคุณพี่น้องชาวบุรีรัมย์ที่ทำให้นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของพรรคภูมิใจไทยเมื่อ 4 ปีก่อนได้เกิดขึ้นที่นี่ ที่มีวันนี้ก็เพราะเริ่มจากบุรีรัมย์แห่งนี้ อย่างที่เพลงร้องว่า “สายเหนียวต้องหนูกันภัย สายอนามัยต้องหนูกัญชา” วันนี้นโยบาย 6 ต้นไม่มีแล้ว ตอนนี้จะปลูกกี่ต้นก็ได้ที่บ้านเรา เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกแล้ว แต่เป็นพืชที่จะทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดีของเรา เป็นหนทางทำมาหากิน สร้างรายได้จากการปลูกพืชกัญชา ตั้งแต่ระดับครัวเรือน กิจการ วิสาหกิจชุมชนและอุตสาหกรรม
“ต้องขอขอบคุณชาวบุรีรัมย์ที่ให้การสนับสนุนจนนโยบายกัญชาประสบความสำเร็จ พรรคภูมิใจไทยปลดล็อกกัญชา เราพูดแล้วทำ วันนี้จัดงานมหกรรมกัญชาฯขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นแห่งแรก ถือเป็นการฉลองความสำเร็จของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เราก็ต้องกลับมาประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องทั่วประเทศทราบถึงประโยชน์ของพืชกัญชาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมายที่ใช้พืชกัญชา กัญชงเป็นส่วนผสม เพื่อดูแลสุขภาพ สร้างรายได้ และพัฒนาพืชกัญชาต่อไป นอกจากนั้นในวันหนึ่งทั้งโลกนี้จะมาใช้สินค้าผลิตกัญชา กัญชงที่ผลิตในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสที่เราจะนำมาเป็นทางเลือกทำมาหากิน” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า ฝากประชาชนทุกท่าน รวมถึง อสม. เลือกใช้พืชกัญชาในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่าไปใช้ในทางที่ผิด ในทางมอมเมา หรือทำแล้วนั่งอมยิ้มทั้งวัน ไม่ทำมาหากินอะไรและขาดสติ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่นโยบายกัญชา กัญชงเสรีของพวกเราชาวบุรีรัมย์ที่ได้ตัดสินใจเลือกให้ตนและพรรคภูมิใจไทย ไปเป็นผู้แทน ไปเป็นรัฐบาลและผลักดันสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับมาให้กับประชาชน อย่างที่พรรคภูมิใจไทยได้รับคะแนนเสียงแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.ครบทั้ง 8 คน จาก 23 อำเภอ มาตลอด 4 ปี ซึ่งคะแนนเสียงของชาวบุรีรัมย์เป็นคำสั่งให้ตนและพรรคภูมิใจไทยไปทำงานตามสั่งของประชาชน
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ได้มีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชาในการรักษาโรคต่างๆ การเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ของประชาชน มีการเปิดคลินิกกัญชาในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการติดตามเรื่องความกังวลของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลต่อจิตประสาท หรือการเสพติดนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีระบบการรักษาและกำกับติดตามผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชามากขึ้น และมีความปลอดภัยสูง
ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญในการทำให้กัญชาถูกใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ดังนั้น ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเน้นทำให้เร็วและครอบคลุม ทำให้ทันก่อนที่ประชาชนจะเริ่มปลูกเองได้ เพราะประชาชนต้องมีความรู้ ตั้งแต่เรื่องโรคที่สามารถใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น สายพันธุ์ต่างๆ ของกัญชา วิธีการปลูก และการใช้ยา หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชา จึงกำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ขึ้นใน 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ
ปลัดสธ. กล่าวอีกว่าสำหรับการดำเนินการของเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบไปด้วย จ.นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์ และชัยภูมิ มีการดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในส่วน ต้นน้ำ มีการปลูกกัญชาถึง 53 แห่ง ปลูกกัญชงถึง 93 แห่ง, กลางน้ำ มีโรงพยาบาล GMP คือโรงพยาบาลคูเมือง ที่มีศักยภาพผลิตยากัญชา ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย เพื่อสนับสนุนทั้งเขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพอื่นๆ ด้วย ส่วน ปลายน้ำ สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐครบทุกแห่ง คลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน 9 แห่ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทย แผนปัจจุบัน ซึ่งจุดเด่นของเขตสุขภาพที่ 9 คือผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาแผนปัจจุบันมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มโรคผู้ป่วยระยะประคับประคอง
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงการขับเคลื่อนถึงเศรษฐกิจ การพัฒนานำไปผสมในอาหาร เช่น ลูกชิ้นยืนกินของ จ.บุรีรัมย์, หมี่โคราชของ จ.นครราชสีมา, กาละแมของ จ.สุรินทร์, หม่ำของ จ.ชัยภูมิ เพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ของดีของแต่ละจังหวัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-