ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 14 มิ.ย. 2565 ณ ห้องประชุมชายโขง ชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอเชียงคาน จ.เลย–นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยพันตำรวจโทกีรป (กี-รบ) กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่จังหวัดเลย ร่วมประชุมเพื่อรับฟังสภาพปัญหาในพื้นที่ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อประชาชนไทยริมโขง กรณีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจัดทำโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักแห่งที่ 5 เพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งห่างจากชายแดนไทย บริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพียง 2 กิโลเมตร
นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้สืบเนื่องการเล็งเห็นผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนสานะคามใน สปป.ลาว ที่มีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ โดยเขื่อนสานะคามเป็นเขื่อนแห่งที่ 5 ตามแผนบันได 5 ขั้น ของรัฐบาลลาว พิกัดห่างจากชายแดนไทยบริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพียง 2 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจังหวัดเลยเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่ติดริมโขงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงพลังงานและผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจังหวัด 7 จังหวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง พบว่ามีผลกระทบที่น่ากังวลในหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึกและการเปลี่ยนแปลงเขตชายแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งของประเทศไทย, ปัญหาการประเมินผลกระทบสะสมข้ามพรมแดนไม่ชัดเจน เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมีลักษณะเป็นขั้นบันได และพิกัดที่ตั้งของโครงการยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ส่งผลต่อการศึกษาประเมินผลกระทบสะสมข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงด้านต่างๆ , ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ และการไหลของน้ำแบบฉับพลันในบริเวณพื้นที่ตอนล่าง ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามฤดูกาล, ปัญหาปริมาณน้ำในแม่น้ำสาขาซึ่งประชาชนใช้เพื่อการเกษตรและผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภค-บริโภค และผลกระทบด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับประกอบอาชีพของประชาชน
วันนี้ จึงร่วมประชุมกับนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และลงพื้นที่สังเกตการณ์ทำเลที่ตั้งและภูมิทัศน์โครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ณ Skywalk เชียงคาน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายณัฐพล วงศ์สง่า หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเลย นายจุลกร เมืองแก้ว ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย นายอภินันต์ สุวรรณโค นายอำเภอเชียงคาน นายกฤษฎา โพธิ์ชัย นายอำเภอปากชม โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเลย นายสุนิติ จิรวงศ์สวัสดิ์ ประมงจังหวัดเลย ผู้แทนกลุ่มลุ่มน้ำโขง และผู้แทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน เพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบในพื้นที่ในภาพรวมให้ครอบคลุมชัดเจน สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ซึ่งจะนำไปสู่การหาแนวทางบริหารจัดการที่สามารถลดผลกระทบของโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม รวมถึงมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (15 มิถุนายน 2565) จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมน้ำโขง 6 จังหวัด (หนองคาย เลย นครพนม บึงกาฬ อำนาจเจริญ มุกดาหาร)เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) และพี่น้องประชาชนชาวเชียงคาน ตลอดจนกลุ่มเยาวชน เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาและผลกระทบของโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ประกอบการพิจารณาและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
เขื่อนสานะคาม หรือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม เป็นเขื่อนลำดับที่ 5 ซึ่งอยู่ตามแผนโครงการบันได 5 ขั้น ของรัฐบาลลาวที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ถูกออกแบบเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขนาดโรงไฟฟ้าบนตัวเขื่อนมีความยาวประมาณ 350 เมตร สูง 58 เมตร ติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้า 12 ตัว แต่ละตัวมีกำลังการผลิต 57 เมกกะวัตต์ รวมเป็น 684 เมกกะวัตต์ โดยมีบริษัทจากประเทศจีนได้รับสิทธิให้เป็นผู้พัฒนาโครงการนี้ด้วยต้นทุนทั้งหมด ประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท งบประมาณส่วนหนึ่งประมาณ 867 ล้านบาท จะถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เขื่อนสานะคามเป็นอีกเขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำโขงที่จะขายไฟให้กับประเทศไทยตามนโยบาย Battery of Asia ของรัฐบาลลาว ที่ตั้งของเขื่อนอยู่ระหว่างเมืองแก่นท้าว แขวงไซยะบุรี กับเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทร์ อยู่ห่างจากทะเลประมาณ 1,777 กิโลเมตร และในประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) นอกจาก สปป.ลาวแล้ว ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสานะคามอย่างมากคือประเทศไทย เนื่องจากตัวเขื่อนจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงห่างชายแดนไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปทางเหนือเพียงราว 2 กิโลเมตร
ทั้งนี้ สำหรับโครงการเขื่อนสานะคาม เอกสารขั้นต้นของโครงการได้รับการเผยแพร่ที่เว็บไซต์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้วเพื่อให้สาธารณะชนเข้าถึง โดยกระบวนการ “การแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง ( PNPCA)” ของเขื่อนสานะคามได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 แต่ไม่กำหนดวันสิ้นสุด เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 สทนช. ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยพิจารณาไม่รับร่าง TRR ฉบับที่ 1 และ Rapid Assessment เนื่องจากมีข้อมูลบางประเด็นยังไม่ครบถ้วน รวมทั้งไม่สามารถสิ้นสุดกระบวนการ PNPCA ในวันที่ 19 มกราคม 2565 ได้ โดย สทนช. และกระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นว่า กระบวนการ PNPCA ยังไม่สิ้นสุด และประเทศไทยควรดำเนินการขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจาก สปป.ลาว เพื่อใช้ประมวลผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทยตามกระบวนการ PNPCA โดยเร็วต่อไป.
ภาพ/ข่าว บุญชู ศรีไตรภพ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.เลย