"เหล้าขาวกับเบียร์" สบยช. เตือนสายปาร์ตี้ อย่าหาดื่มพร้อมกัน เสี่ยงเส้นเลือดสมองแตก อันตรายถึงชีวิต
ข่าวที่น่าสนใจ
“เหล้าขาวกับเบียร์” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา กรมการแพทย์ ได้อัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันประชาชนนิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากขึ้น บางคนดื่มเพื่อเข้าสังคม ดื่มเพื่อสังสรรค์ หรือดื่มเพื่อปรับทุกข์ ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวัน ในระยะแรกอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ดื่มอย่างชัดเจน แต่พิษจากแอลกอฮอล์จะถูกสะสมในร่างกายมากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้
เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปเพิ่มความดันโลหิต ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดเส้นเลือดสมองแตก เซลล์สมองถูกทำลาย ความจำเสื่อม การทำงานของระบบประสาทลดลง รวมถึงเส้นเลือดทั่วร่างกาย ทำให้เลือดออกง่ายหยุดยาก เช่น เส้นเลือดที่กระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งทำให้อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่มและส่งผลต่อสังคม ทำให้ขาดสติ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้ที่นิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หลายชนิดรวมกัน เช่น
- การดื่มเหล้าขาวร่วมกับการดื่มเบียร์
- หรือดื่มอย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณมากเป็นประจำทุกวัน
อาจส่งผลให้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง ระบบความจำบกพร่อง สมองเสื่อม สับสนไม่รู้วัน เวลา สถานที่ มีความผิดปกติทางอารมณ์ และพฤติกรรม มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้
ซึ่งผู้ที่นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรดื่มมากกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป (อ้างอิงจากแบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา AUDIT : WHO 2001)
- โดยในผู้ชายไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐาน
- ผู้หญิงไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐาน ต่อวัน
1 ดื่มมาตรฐาน เทียบได้กับ
- เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 5% 1 กระป๋องหรือ 330 มิลลิลิตร
- ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 11-13% 1 แก้วหรือ 100 มิลลิลิตร
- เหล้าแดงที่มีแอลกอฮอล์ 35-40% 3 ฝาหรือ 30 มิลลิลิตร
- เหล้าขาวที่มีแอลกอฮอล์ 40% 2/3 เป็กหรือ 25 มิลลิลิตร
ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง