"ลำไส้กลืนกัน" แพทย์เผยเคสคนไข้ ท้องเสียสลับท้องผูกต่อเนื่อง 3 อาทิตย์ โชคดีวินิจฉัยละเอียด หากไม่ได้รับการรักษา อาจเสียชีวิตในที่สุด
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อมูลด้านสุขภาพ เผยเคสผู้ป่วยโรคลำไส้กลืนกัน มีอาการปวดท้องสลับท้องผูกต่อเนื่องนาน 3 สัปดาห์ โดยเจ้าตัวเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะธรรมดา สุดท้ายอันตรายกว่าที่คิด โชคยังดีที่มาพบแพทย์ทัน หากช้ากว่านี้ อาจเสียชีวิตได้ โดยระบุว่า
ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้สูงอายุ วัย 68 ปี เข้ารับการักษาด้วยอาการ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องเป็นพัก ๆ ท้องเสีย ท้องผูกสลับกัน
- มีอาการติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์
ตอนแรกผู้ป่วยคิดว่าน่าจะมาจากอาการอาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะ จึงตัดสินใจเข้ามารักษา
แพทย์ห้องฉุกเฉิน เห็นว่าผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุและมีอาการต่อเนื่องมานาน ควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด จึงปรึกษาอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และรังสีแพทย์ ไปพร้อม ๆ กัน จนได้ภาพรังสีจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ออกมา พบว่า มีส่วนของลำไส้เล็กส่วนปลายกลืนกัน จึงวางแผนรักษาโดยการผ่าตัดทันที
โชคดีที่ได้รับการผ่าตัดก่อนที่ลำไส้จะทะลุ หากผ่าตัดไม่ทันเวลาจะทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ ลำไส้ส่วนที่อุดตันถูกบีบรัดกันจนขาดเลือดไปเลี้ยง ส่งผลให้เนื้อเยื่อลำไส้เน่าตาย หากไม่ได้รับการรักษาผ่าตัดส่วนที่เน่าออก และตัดต่อลำไส้ใหม่ จะนำไปสู่การทะลุและฉีกขาดของผนังลำไส้ จนเกิดการติดเชื้อในช่องท้อง ติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ในที่สุด
อาการในแต่ละช่วงวัย
1. วัยเด็ก
- มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน กระสับกระส่าย
- มือเท้าเกร็ง ท้องเป็นตะคริวเป็นพัก ๆ
- โดยในช่วงแรกจะเกิดขึ้นครั้งละประมาณ 10-15 นาทีแล้วหายไป และเว้นช่วงประมาณ 20-30 นาทีก่อนที่อาการจะกลับมาอีกครั้ง
- อาการดังกล่าวจึงมักทำให้เด็กร้องไห้เสียงดังและงอเข่าเข้ามาบริเวณหน้าอกขณะมีอาการ
- หลังจากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น เด็กจะง่วงซึมเนื่องจากความเหนื่อยล้า และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก อาเจียน คลำพบก้อนในท้อง มีไข้ ท้องผูกหรือท้องร่วง
- โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่คน เด็กบางรายอาจไม่แสดงความเจ็บปวดอย่างชัดเจน ไม่มีก้อนบริเวณท้องหรือเลือดปนในอุจจาระ โดยอาจมีเพียงอาการปวดแต่ไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
2. วัยผู้ใหญ่
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องเป็นพัก ๆ
- โดยอาจมีอาการติดต่อกันนาน 2-3 อาทิตย์
- ซึ่งในวัยผู้ใหญ่อาจจะระบุอาการยากกว่าในวัยเด็ก เพราะ อาการที่เกิดขึ้นอาจใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ
สาเหตุ
- ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัด
- แต่การเกิดโรคลำไส้กลืนกันในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ลำไส้อักเสบ การผ่าตัดลำไส้ มีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้องอกในลำไส้ที่ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวผิดปกติ
- ในกรณีของเด็กโตและผู้ใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากพังผืดในลำไส้ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักหรือการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ การติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ อย่างโรคโครห์น
- นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลำไส้กลืนร่วมกันได้มากขึ้น คือ เป็นเพศชาย อายุตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี มีภาวะลำไส้หมุนตัวผิดปกติ
- มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ป่วยโรคนี้
- หรือเคยมีอาการในตอนเด็กก็อาจมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำเมื่อโตขึ้น
วิธีป้องกัน
- โรคลำไส้กลืนรวมกันเป็นโรคที่มีความรุนแรงจนอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตและยังไม่มีวิธีป้องกัน
- เนื่องจาก ไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดได้อย่างชัดเจน
- ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องเฝ้าระวัง หากบุตรหลานมีอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน
- และในผู้ที่เคยมีอาการของโรคลำไส้กลืนกันในวัยเด็ก ก็ควรเฝ้าระวังความผิดปกติและหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองด้วยเช่นกัน
ข้อมูล : Arak Wongworachat และ pobpad
ข่าวที่เกี่ยวข้อง