ชวน…ทวนความจำ ต้นเหตุไฟใต้มาจากใคร ?

สะบัดมีดโกนอาบน้ำผึ้งไฟใต้กลับมาระอุในยุคทักษิณ ละเมิดรัฐธรรมนูญใช้วิธีทางนอกนิติธรรม เป็นต้นเหตุวิกฤติทุกเรื่องรวมถึงไฟใต้ จำแม่น 8 เม.ย.2544 จุดเริ่มต้นความวิบัติผู้นำมอบนโยบายให้ตำรวจทหารใช้ยาแรงแก้ปัญหา อดีตแม่ทัพภาค 4 ก็ระบุชัด นโยบายแม้วผิดพลาดเลือกคนไม่รู้จริงไปทำงานทำไฟใต้ระอุ ย้อนอดีตไทม์ไลน์ ทักษิณพลาดอย่างไรแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยวิธีไหน ความไม่สงบจึงลุกโชนไม่มีวันหมด

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นไม่หยุด  แม้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ไฟใต้จะดับมอดลงไปได้  เพราะเหตุที่ปัญหาเกิดขึ้นมายาวนาน มีความสลับซับซ้อนละเอียดอ่อนมาก  ล่าสุดหนึ่งในคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง  เคยเป็นส.ส.หลายสมัยในภาคใต้มาก่อน เคยนั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดกุมนโยบายแก้ปัญหาดับไฟใต้  เคยเป็นนายกฯของประเทศ อย่างชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ออกมาทวนความจำเหตุความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ให้คนไทยฟัง โดยพูดระหว่างเสวนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา เรื่อง “ 90 ปี รัฐสภาไทย การเดินทางและความหวัง”

ความตอนหนึ่งว่า   “ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เราคิดว่าดีในที่สุดก็มีปัญหา เพราะการเมืองเข้าไปแทรกแซง ดังนั้น บางเรื่องจึงไม่ได้เกี่ยวกับตัวกฎหมาย อย่ามองเรื่องข้อบกพร่องรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่สำคัญคือพฤติกรรมของคนใช้รัฐธรรมนูญ หลายครั้งที่เกิดวิกฤติมาจากพฤติกรรมของตัวบุคคล กฎหมายที่ดีจึงมีความจำเป็น เพื่อกำหนดโครงสร้างบทบาทแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน แต่ต้องประกอบไปด้วยผู้ใช้ที่ดีด้วย ตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดวิกฤติจนถึงทุกวันนี้ คือการที่ผู้บริหารใช้วิธีการบริหารด้วยการเลือกปฏิบัติ และใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม   ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือปัญหาภาคใต้ที่ยังเกิดปัญหาจนทุกวันนี้ เกิดจากความผิดพลาดของบุคคลที่มาจากระบบการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย แต่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยในการบริหาร ไปใช้หลักนอกนิติธรรม นั่นคือนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 คือวันที่เริ่มนโยบายเกิดวิกฤติในภาคใต้ เป็นนโยบายเก็บฆ่าทิ้ง สันนิษฐานว่าพื้นที่ภาคใต้มีขบวนการโจรก่อการร้าย ไม่เกิน 40 – 50 คน บอกว่าเป็นพวกโจรกระจอกแล้วจัดการเสีย ถือว่าเป็นเหตุการณ์วิกฤติใน 90 ปี ที่เราไม่เคยสูญเสียขนาดนี้ เฉลี่ยผู้เสียชีวิตต่อเนื่องจากเหตุการณ์จนถึงวันนี้ไม่น้อยกว่า 5 – 6 พันคน ทั้งที่ปัญหาในพื้นที่มีการแก้ไขเยียวต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่สมัย ร.5 – ร.6 แต่พอนโยบายวันที่ 8 เม.ย.2544 ออกมาว่าจะแก้ปัญหาหมดใน 3 เดือน ด้วยวิธีเก็บฆ่าทิ้งเดือนละ 20 คน จึงเป็นเงื่อนไขที่มาของทุกวันนี้ ทำให้ทุกวันนี้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทในการแก้ปัญหาซึ่งปัญหายังไม่จบ” ชวนสะบัดมีดโกนอาบน้ำผึ้ง

ร่ายยาวทวนความทรงจำในอดีต อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ไฟใต้ปะทุโหมโรมรันมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะผู้นำคนไหน เพราะรัฐบาลยุคใด 8 เม.ย.2544  ที่ชวนปักหมุดว่าเป็นต้นเหตุไฟใต้คือเรื่องอะไร ย้อนอดีตไปดูไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้  เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังทักษิณ ชินวัตร ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำประเทศไทย เมื่อ 9 ก.พ.2544  อยู่เป็นนายกฯ 2 สมัย จนถึง 19 ก.ย. 2549 เบ็ดเสร็จรวมความอยู่ในตำแหน่ง สร.1  5 ปี 222 วัน

7 เมษายน 2544 เวลา 14.26 น.  เกิดเหตุระเบิดที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  บริเวณหน้าห้องประชาสัมพันธ์ แรงระเบิดเกิดเป็นหลุมลึกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารกำลังรอขึ้นขบวนรถเร็วที่ 172 เดินระหว่างสถานีสุไหงโกลก – สถานีกรุงเทพ ที่จะเข้าสู่สถานี   มีผู้โดยสารเสียชีวิต จำนวน 1 ราย บาดเจ็บ 38 ราย  ผลสำรวจความเสียหายเบื้องต้น ภายในอาคารและชานชาลาสถานีรถไฟ   คาดได้รับความเสียหายประมาณราว 1 ล้านบาท

8 เม.ย. 2544 ทักษิณบินลงใต้ไปติดตามสถานการณ์ความไม่สงบ มีการเรียกประชุมตำรวจ ทหาร มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์และมอบนโยบาย  โดยทักษิณประกาศใช้ยาแรงแก้ปัญหาภาคใต้ ด้วยแนวทางตาต่อตาฟันต่อฟัน และเชื่อว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของโจรกระจอกแค่ 40-50 คนไม่ใช่กลุ่มขบวนการ และเชื่อว่าใช้เวลาแค่ 3 เดือนก็จะแก้ปัญหาไฟใต้ได้

การลงพื้นที่แล้วมอบโนยบายดังกล่าวของทักษิณทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ  หนึ่งในคนที่ออกมายืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และให้ข้อมูลในทำนองใกล้เคียงชวนว่าทักษิณคือต้นเหตุที่ทำให้ไฟใต้ลุกโชนก็คือ พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์  อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี) อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) อดีต ผบ.พล.ร.5 อดีตผบ.กองกำลังทหารพราน กองทัพบก เคยออกมาให้ข้อมูลชี้แจงเรื่องนี้อย่างกระจ่างว่า  “ คุณทักษิณลงใต้ไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2544 ก็เกิดจุดเริ่มต้นของความรุนแรง มีการเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญ   เป็นครั้งแรกที่การเมืองเข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำ สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ ให้ผู้อำนวยการ ศอ.บต.มารับผิดชอบในการแก้ปัญหาแทนแม่ทัพภาคที่ 4   จากนั้นไม่นานเมื่อ  1 ต.ค.2545 มีการเปลี่ยนแม่ทัพภาค 4จาก พล.ท.ณรงค์ เด่นอุดม มาเป็น พล.ท.วิชัย บุญรอด และเอา พล.ต.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (เพื่อนทักษิณ ตท.10)  มาเป็นรองแม่ทัพภาค 4 และ ผอ.พตท.43 เป็นการนำคนนอกพื้นที่ที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยเข้ามาแก้ปัญหา แต่ก็มีคนคัดค้านว่าไม่ควรทำ จนล่าสุด พล.ท.วิชัย ก็มาสารภาพว่าเขาผิดเอง เพราะเขาได้รับใบสั่งมา ให้ พล.อ.ทรงกิตติ มาเป็น ผบ.พตท.43

จากนั้นในปี 2545 มีคำสั่ง ที่123 ให้ยกเลิก พตท.43 และ ศอ.บต.ที่แต่งตั้งโดยนายบรรหาร ตั้งแต่ปี 2544 ต่อปี 2545 เมื่อยกเลิกทั้งหมด ก็มีคำสั่งให้โอนงานความมั่นคงจากทหารมาเป็นตำรวจภูธร 9 และผู้ว่าฯซีอีโอ แต่ผู้ว่าฯเมื่อก่อนเรียกข้าหลวง ที่ต้องทำงานต่างพระคุณ ไม่ใช่ให้ผู้ว่าฯมาปราบผู้ร้าย เมื่อตำรวจมาใช้วิธีตำรวจ คือ วิธีสืบสวน สอบสวน จับกุม ขยายผล ส่งฟ้องศาลดำเนินคดี และมาปล่อยชั้นศาล จากนั้นก็มาใช้วิธีนอกกฎหมายมาประกอบในการแก้ปัญหา  จากนั้นในวันที่ 1 เม.ย.2546 มีการเปลี่ยนแปลงแม่ทัพภาคที่ 4 จาก พล.ท.วิชัย เป็น พล.ท.ทรงกิตติ และปี 2547 ก็มีนโยบายมีการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง มีการวิสามัญฆาตกรรม การฆ่าตัดตอน ผู้คนสูญหาย ตรงนี้ไม่เกลียด พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เพราะสมัยนั้นท่านเป็นเลขาฯ ป.ป.ส. ขณะนั้น ใครจะสั่งท่านก็คงจะรับรู้อยู่ด้วย เหตุการณ์ปราบปรามยาเสพติดในปี 2547 ภาคอื่นก็คงจะจบเพียงญาติไม่พอใจ แต่เมื่อไปเกิดในภาคใต้ ที่มีชาวมุสลิม กลุ่มที่สามก็ถูกชักจูงไปจำนวนมาก โดยเฉพาะญาติ จนมีขบวนการล้างแค้น หาความเป็นธรรม ทำให้ยุทธการฆ่าคนบริสุทธิ์เกิดขึ้น” พล.อ.ปานเทพร่ายยาวจนเห็นภาพชัดเจนถึงความผิดพลาดของทักษิณ

30  มี.ค. 2545   สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)  ยุคที่มีพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เป็นผบ.ตร. เสนอยุบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้เกือบทั้งหมด  รวมถึง 2 หน่วยสำคัญที่เป็น “มือ-ไม้” ในการดับไฟใต้มาทุกยุคทุกสมัย  คือ ศอ.บต.ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นคนดูแล  และ พตท.43  ที่กองทัพบกโดยทหารเป็นคนรับผิดชอบ  2 หน่วยนี้ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาคใต้มายาวนาน   ศบ.บต.เป็นฝ่ายบุ๋นรับผิดชอบดูแลมวลชนทุกข์สุขของชาวบ้าน  ขณะที่พตท.43  คือฝ่ายบู๊รับหน้าที่สู้รบกับขบวนการก่อการร้ายดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ชาวบ้าน   2  หน่วยพลเรือนกับทหารทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อเมื่อถูกยุบทิ้งไป   ภายหลังก็เลยเกิดช่องว่างการทำงานระหว่างคนของรัฐกับชาวบ้าน

1 ก.พ.2546 ทักษิณประกาศสงครามยาเสพติด ท่ามกลางข้าราชการทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด  ประกาศกร้าวที่อยู่ของขบวนการยาเสพติดมี 2 แห่ง ไม่คุกก็วัด พร้อมเชื่อมั่นว่ารัฐตำรวจในยุคเขาทำได้ทุกอย่าง ภายใต้แสงอาทิตย์นี้ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ก่อนขีดเส้นใต้ปราบปรามยาเสติดให้เห็นผลภายใน 3 เดือนตั้งแต่ 1 ก.พ.- 30 เม.ย.2546 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดคดีฆ่ากันตายจำนวนมากจนมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน จนเป็นที่มาของคำว่า “ฆ่าตัดตอน” ที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถพิสูจน์การตายได้ แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากการออกนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวดของทักษิณจนเกิดการฆ่าคนไปจำนวนมาก ส่วนหนึ่งถูกระบุว่ากลายเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการคับแค้นทางภาคใต้

4  ม.ค.2547  เกิดเหตุเผาโรงเรียน 20 แห่งในจ.นราธิวาส เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ก่อนกลุ่มคนร้ายจะสบช่องบุกกองพันพัฒนาที่ 4 สังหารทหารเสียชีวิตไป 4 นาย ขโมยปืนในคลังไป 413  กระบอก ที่ภายหลังถูกนำมาใช้ก่อเหตุสร้างสถานการณ์ต่างๆ  เหตุการณ์ดังกล่าวถูกยกให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของไฟใต้รอบใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   หลังขบวนการก่อการร้ายก่อเหตุสะท้านแผ่นดิน  ทักษิณฟิวส์ขาดถึงขั้นด่ากราดทหารในหน่วยว่า “สมควรตาย”  จากนั้นมาไฟใต้ก็ปะทุไม่หยุดและเกิดเหตุการณ์รุนแรงและสำคัญอีกหลายครั้ง  12 มี.ค.2547 สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมกฎหมายมุสลิม ซึ่งรับหน้าที่เป็นทนายในคดีความมั่นคงในชายแดนภาคใต้ถูกอุ้มลักพาตัวหายไป จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ทราบชะตากรรม แต่เชื่อว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว

28 เมษายน  2547   เกิดเหตุบุกโจมตีที่มั่นทางทาง 11 จุดใน  3จังหวัดชายแดน ประกอบด้วย  ปัตตานี ยะลา สงขลา จุดใหญ่ที่สุดคือมัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี  มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลบเข้าไปใช้เป็นที่กำบังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่   ทักษิณมอบหมายให้ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รวมถึง “บิ๊กตุ้ย” พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร  ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นผบ.ทบ.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด  ขณะที่ในพื้นที่ก็มอบหมายให้  “บิ๊กลภ” พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผอ.กอ.รมน. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์  มี “บิ๊กอ็อด” พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เป็นแม่ทัพภาคที่ ๔ คุมกำลัง  ล้อมอยู่นาน 9 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังตอบโต้  โดยขว้างระเบิดสังหารและระดมอาวุธหนักยิงใส่คนร้าย   ผลปรากฎว่าผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 32  คน   ขณะที่ตลอดทั้งวันที่มีการปะทะกันหลายจุดมีคนเสียชีวิตรวม 108 คน  หลังเกิดเหตุมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์   เพราะมีการตั้งข้อสังเกตจากชาวบ้านว่าทักษิณและรัฐบาลทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ

25 ตุลาคม 2547  เกิดเหตุชาวบ้านชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ๖ คนที่ถูกจับกุมตัวข้อหาสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ ณ สภ.อ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส  มีชาวบ้านมาชุมนุมนับพันคนนานหลายชั่วโมง ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ชุลมุนใช้ก้อนหินขว้างปาสถานีตำรวจ จนตำรวจ-ทหารต้องตัดสินใจปิดล้อมพื้นที่และเข้าสลายการชุมนุม ผลปรากฏว่าเกิดการปะทะและเหตุรุนแรงส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตในจุดเกิดเหตุ 6 คน และถูกควบคุมตัวไปราว 1,370 คน ระหว่างทางลำเลียงผู้ชุมนุมไปตรวจสอบนี้แหละ เกิดเหตุผู้ชุมนุมแออัดทับกันบนรถบรรทุกนานกว่า 6  ชั่วโมง หมดสติ หายใจไม่ออกส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีก 85  คน  คนใต้ใน 3 จังหวัด รุมประนามสาปแช่งการทำหน้าที่ของทหาร ตำรวจ ยุคทักษิณเป็นต้นเหตุให้ญาติพี่น้องลูกหลานเสียชีวิตแบบไม่สมควรตายจำนวนมาก  นี้คือหนึ่งในเหตุการณ์แผลในใจสำคัญของพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้

21 ก.ค.2548  ทักษิณสั่งยกเลิกกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทหารไร้เครื่องมือทำงานผู้ก่อความไม่สงบเริงร่าเพราะมีการนำตำรวจบ้านใช้กฎหมายปกติมาจัดการแทน  แต่ไฟใต้ก็ยังลุกโชนไม่หยุด ทหาร ตำรวจ ครู พระ ข้าราชการ แม้แต่ชาวบ้านก็ตกเป็นเป้าหมด  ก่อนปลายปีหลังเห็นว่ากฎหมายปกติเอาไม่อยู่จึงมีการนำกฎอัยการศึกกลับมาใช้ใหม่  แต่สถานการณ์ในตอนนั้นไปไกลเกินกว่าจะเอาอยู่แล้ว

ปลายปี 2548  มีข่าวฮือฮาว่าทักษิณได้รับการประสานงานจากองค์กรเอกชนระหว่างประเทศให้พูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน   เสี่ยแม้วจึงมอบหมายให้ ส.ส.พรรคไทยรักไทยที่เคยเป็นอดีตลูกหม้อศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.)  เดินทางไปพูดคุยกับสมาชิกพูโล 2 กลุ่ม และ แกนนำกลุ่มบีไอพีพี  ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่หลังจากการพูดคุยกัน 2  ครั้ง คณะพูดคุยฝ่ายไทยประเมินว่าไม่น่าจะใช้ของจริงและได้ผลในทางปฏิบัติ กระบวนการพูดคุยจึงยุติลง

ข้อมูลของศอ.บต.ระบุว่า 3 ปียุคทักษิณมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ รวมทั้งกลุ่มคนร้ายเสียชีวิตล้มตายจำนวนมาก  พ.ศ.2547 มีการก่อเหตุ 502 ครั้ง ชาวบ้านตาย 180 คน เจ้าหน้าที่ตาย 162 คน รวม 342 คน พ.ศ.2548 มีการก่อเหตุ 856 ครั้ง ชาวบ้านตาย 340 คน เจ้าหน้าที่ตาย 163 คน รวม 503คน  พ.ศ.2549 มีการก่อเหตุ 1,046 ครั้ง ชาวบ้านตาย 425 คน เจ้าหน้าที่ตาย 184 คน รวมเสียชีวิต 609 คน เบ็ดเสร็จ 3 ปี ไฟใต้ยุคทักษิณ มีคนตายรวม 1,454 คน นอกจากนี้ยังมีบาดเจ็บและพิการรวมกันแล้วกว่า 2,108 คน  ทั้งหลายทั้งมวลคือความวิบัติของนโยบายดับไฟใต้ที่เกิดขึ้นในยุคทักษิณ  เรื่องจริงที่ทักษิณไม่เคยจำแต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีวันลืม

 

/////////////////////////

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พระปีนเสา" เล่านาที ถูกทำร้ายหน้าช่อง 8 เจ็บจนเห็นดาวเห็นเดือน โร่แจ้งความตำรวจ สน.บางเขน
"กลุ่มชายปริศนา" แหวกวงล้อมสื่อ เข้ารุมทำร้าย "พระปีนเสา" ขณะให้สัมภาษณ์
เปิดตัว "TKR Connect" แพลตฟอร์มจัดหางานครบวงจร สร้างมิติใหม่รองรับแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกม.
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวกรวม 9 คน “ฉ้อโกง-ฟอกเงิน” ปลอมลายเซ็นอดีตลูกสะใภ้กู้เงิน 8 พันล้าน
ระทึกกลางดึก ไฟไหม้ "ร้านกาแฟ" เผาวอดทั้งหลัง เสียหายกว่า 7 แสนบาท
"อุตุฯ" เผย "เหนือ-อีสาน-กลาง" อากาศเย็นตอนเช้า เตือนใต้ยังรับมือฝนตก
แม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวกำลังพล ห่วงใยไปถึงบ้าน เพราะเราคือครอบครัวกองทัพบก
สวนนงนุชพัทยาเปิดเวที CHONBURI PROUD EXPO 2024 หนุน SMEs ชลบุรีสู่ตลาดโลก
“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น