ติดตามต่อเนื่องกับปัญหาจากการประมูล จัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง มูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพราะวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 นี้ จะครบกำหนดอีกครั้ง หลังจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลั ง มีความเห็นขยายเวลาอีก 30 วัน ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่มี นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ และมีข้าราชการกรมธนารักษ์ นั่งเป็นกรรมการหลายคน ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ในเรื่องรายละเอียดขั้นตอนระบวนการการคัดเลือก ที่ยังเป็นข้อสงสัยและมีปรากฏออกมาในสาธารณะ
รวมถึงการตรวจสอบประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิเช่น ตรวจสอบปริมาณน้ำที่ส่งให้แก่ผู้ใช้น้ำ เปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพของท่อส่งน้ำ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และเรื่องการใช้ปริมาณน้ำที่ถูกนำมาเป็นพื้นฐานในการออก TOR ซึ่งมีข้อโต้แย้งด้านข้อมูลจากฝ่ายเกี่ยวข้อง เพราะมีความแตกต่างของ TOR ในการเปิดประมูลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จนทำให้เกิดกระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
และศาลปกครอง เคยมีความเห็นผ่านหนังสือ ลงวันที่ 9 มีนาคม 2565 ระบุชัดเจนว่า กรณีนี้หากการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย
เนื่องจากมาตรา 119 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บัญญัติให้การฟ้องคดีไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จึงย่อมทำให้การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกครั้งแรก
ประกอบกับโครงการพิพาทมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอและทันต่อการณ์ โดยบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคตะวันออก