เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 65 รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Top News ถึงกรณีเครื่องบินกองทัพเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าไทย จนมีการวิเคราะห์ว่าเป็นความตั้งใจหรือเพลี่ยงพล้ำว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้จนเป็นที่แน่ใจว่าอะไรเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องรอดูข้อเท็จจริงที่น่าจะเห็นชัดขึ้นในสัปดาห์หน้าที่จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างประเทศและหน่วยงานต่างๆในประเทศ ทั้งนี้หากดูจากสภาวะทางกายภาพตามแนวชายแดนเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงทั้งสองฝ่ายคุ้นเคยกับภูมิประเทศเป็นอย่างดีอยู่แล้ว การใช้ยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมา ทั้งเครื่องบินรบ หรืออุปกรณ์ตรวจจับเครื่องบินรบ หรือเรดาห์ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นเรื่องความประมาทเลินเล่อหรือไม่คุ้นเคยภูมิประเทศก็ต้องดูน้ำหนักว่าจะมีมากเพียงพอหรือไม่ แต่ในชั้นนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ เพียงแต่มีข้อสังเกตว่าจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นหลายประกาศทำให้เกิดการรุกล้ำน่านฟ้าอย่างที่เป็นข่าว คงต้องรอให้ข้อเท็จจริงปรากฎมากขึ้นกว่านี้ เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี ที่เรากับเมียนมาได้ปรับปรุงและยกระดับขึ้นมาใช้เวลาหลายสิบปีกว่าเราจะปรับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นในระดับนี้
เมื่อถามว่า แอคชั่นของรัฐบาลไทยและกองทัพ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตอบโต้กลับเบาเกินไป และล่าช้า นายปณิธาน กล่าวว่า หลังจากการถอดบทเรียนทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะกองทัพไทย ฝ่ายความมั่นคงของไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องในอนาคตน่าจะสามารถที่จะสร้างความมั่นใจ ลดความกังวลและความตื่นตระหนก รวมถึงความสงสัยของหลายฝ่าย และฝ่ายค้านในรัฐสภาในเรื่องนี้ได้ หากมีการเปิดเผยข้อมูลและมีการแก้ไขข้อบกพร่องในชั้นต้น เราต้องยืนยันกันว่าประเทศเมียนมาและประเทศในอาเซียนที่เราเป็นมิตรประเทศ ไม่มีประเทศไหนเป็นภัยคุกคามต่อกัน เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน มีกลไกตามแนวชายแดนและระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกันในด้านทหาร การลาดตระเวน การร่วมมือในโครงการต่างๆด้านความมั่นคง ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการสู้รบในเมียนมาที่อยู่บริเวณแนวชายแดนทำให้เกิดปัญหาลักษณะแบบนี้ โดยนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ต้องวางแผนกันให้ดีกว่านี้อย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เหตุการณ์นี้ก็มีหลายฝ่ายพูดกันว่าถ้ายุทโธปกรณ์ของเรา หรือระบบตรวจจับไม่ได้เป็นปัญหาความทันสมัยก็คงต้องไปดูเรื่องสายบังคับบัญชาการ การเตรียมพร้อม การสั่งการ และการดำเนินการล่วงหน้าที่ไม่กระทบกับประเทศเพื่อนบ้านจะทำได้หรือไม่ เช่นตรวจจับเห็นความเครื่องไหวเครื่องบินในประเทศเพื่อนบ้านมีท่าทีที่ล่อแหลมในการปฏิบัติการทำการรบหรือการทำสงครามในประเทศของเขา แต่อาจจะกระทบเข้ามาในเวลาที่ค่อนข้างสั้นและจำกัด การตัดสินใจทำงานในเชิงป้องปราม ตรวจสอบ ระมัดระวัง หรือจ้งเตือนเพื่อสกัดดั้นให้เร็วขึ้นกว่าปกติจะทำได้หรือไม่ ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร จะส่งสัญญาณผิดพลาดให้เพื่อนบ้านมีความรู้สึกอย่างไรหรือไม่หากไม่มีการสื่อสารหรือไม่มีการซักซ้อมมาตรการขั้นตอนเหล่านี้