"ทุ่นระเบิด" กัมพูชา เตรียมระดมทุน 90 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้กำจัดวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม ภายในปี 2025
ข่าวที่น่าสนใจ
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม หลี ทุจ รองประธานสำนักปฏิบัติการ “ทุ่นระเบิด” และการช่วยเหลือผู้เสียหายในกัมพูชา เผยว่า กัมพูชากำลัระดมทุนประมาณ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.24 พันล้านบาท) เพื่อใช้กำจัดวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม (ERW) ทุกประเภทในประเทศ ภายในปี 2025
ทุจกล่าวว่า กัมพูชากำจัดพื้นที่ปนเปื้อนวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม 2,410 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังทำลาย
- ทุ่น ระเบิดสังหารบุคคลกว่า 1.1 ล้านชิ้น
- ทุ่น ระเบิดทำลายยานพาหนะมากกว่า 26,000 ชิ้น
- และวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามเกือบ 3 ล้านชิ้น
ทว่ากัมพูชายังต้องกำจัดพื้นที่ปนเปื้อนที่เหลืออีก 716 ตารางกิโลเมตร
โดยทุจแถลงข่าวเรียกร้องชาวกัมพูชาบริจาคเงินให้ โครงการจัดการทุ่นระเบิดสมเด็จ เดโช (Samdech Techo Project for Mine Action) เพื่อกำจัดวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามในประเทศภายในปี 2025 โดยขณะนี้ กัมพูชาต้องการงบประมาณอย่างน้อย 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.24 พันล้านบาท) เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนั้น ทุจระบุว่า สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จัดตั้งโครงการข้างต้นเมื่อวันจันทร์ (4 ก.ค.) ที่ผ่านมา และระดมทุนจากผู้บริจาคในท้องถิ่นได้กว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 540 ล้านบาท) แล้ว พร้อมเสริมว่าและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตและบาดเจ็บเกือบ 65,000 ราย นับตั้งแต่ปี 1979
ทั้งนี้ สงครามและความขัดแย้งภายในประเทศส่งผลให้กัมพูชากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามมากที่สุดในโลก โดยในช่วงที่เกิดความขัดแย้งยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ มีอาวุธอื่น ๆ ถูกทิ้งไว้ในกัมพูชาราว 4-6 ล้านชิ้น
อนึ่ง ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ระบุว่าสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดราว 230,516 ลูก ในพื้นที่ 113,716 จุดทั่วกัมพูชา ระหว่างปี 1965-1973
โดยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา แถลงการณ์จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพี (UNDP) ในกัมพูชา กล่าวว่า ชาวกัมพูชาเกือบ 1 ล้านคน ยังเผชิญความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตและทำงานในพื้นที่ที่มีวัตถุระเบิดตกค้างอยู่ โดยอาวุธที่เหลือจากสงครามเหล่านี้ได้ขัดขวางการฟื้นตัวและการพัฒนาของกัมพูชาอย่างรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง