“กรมธนารักษ์” สุดยื้อพิพากษาท่อส่งน้ำ EEC แจ้งศาลปกครองเลื่อนส่งข้อมูล

"กรมธนารักษ์" สุดยื้อพิพากษาท่อส่งน้ำ EEC แจ้งศาลปกครองเลื่อนส่งข้อมูล

ติดตามต่อเนื่องกับปัญหาการประมูล โครงการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (EEC) มูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องเพราะมีประเด็นสำคัญเริ่มต้นจากการที่ กรมธนารักษ์ ยกเลิกผลการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งปรากฎว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ต่อมาการประมูลครั้งที่ 2 กลับกลายเป็น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้รับชอบดำเนินโครงการ

จากนั้น บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ได้ทำการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรม 2 ครั้ง ใน 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ยื่นคำร้องกรณีคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมธนารักษ์ มีคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และการออกประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่ เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย

โดยในเนื้อหาคำร้อง บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ระบุว่าเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 กรมธนารักษ์ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาประมูลโครงการดังกล่าว โดยเปิดรับซองเอกสารวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีอีสท์วอเตอร์ และเอกชนอีก 2 ราย ยื่นซอง ต่อมากรมธนารักษ์ ได้แจ้งยกเลิกการตัดเลือกเอกชนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 และปรับปรุงประกาศเชิญชวนใหม่ ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ไม่เห็นด้วยและทำหนังสือโต้แย้ง

รวมทั้งเห็นว่าคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประกาศเชิญชวนฉบับใหม่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับคำสั่งยกเลิก และไม่ก่อประโยชน์ให้รัฐ และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ยื่นประมูลให้ด้อยลง รวมทั้งมีเวลาให้อีสท์วอเตอร์เตรียมการประมูลรอบใหม่ไม่มาก โดยได้รับเอกสารประกาศเชิญชวนฉบับใหม่วันที่ 13 กันยายน 2564 และต้องยื่นข้อเสนอวันที่ 28 กันยายน 2564

ดังนั้น อีสท์ วอเตอร์ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ตามประเด็นคำร้อง ดังนี้

1.ขอเพิกถอนมติหรือคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564
2.ขอเพิกถอนประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564
3.ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565
4.ให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ หยุดการกระทำละเมิด โดยงดการกระทำตามประกาศเชิญชวนเอกชนคเข้าคัดเลือกฉบับใหม่ลงวันที่ 10 กันยายน 2564

 

และ กรณีที่ 2.เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว เป็นการฉุกเฉินก่อนการพิพากษาคดีหลัก เนื่องจากบอร์ดที่ราชพัสดุ มีกำหนดประชุมเพื่อลงมติรับรองผลการประมูลครั้งที่ 2 โดยไม่รอคำพิพากษาศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผู้รับผิดชอบ นำกรณีดังกล่าวไปพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนจะดำเนินการเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ทั้ง ๆ ที่ ศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษา คำร้องเรื่องการยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 ส่งผลให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยมี นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ประเด็นสำคัญคือ จากวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ลงนามในคำสั่งที่ สส 3/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ EEC ใน 3 ประเด็นหลักประกอบด้วย

1. ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2.ตรวจสอบทางกายภาพระบบท่อส่งน้ำ สถานีสูบน้ำ และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการส่งมอบและรับมอบ โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อการจัดทำระบบสาธารณูปโภคและหรือผู้ใช้น้ำ

3.พิจารณาข้อมูลปริมาณน้ำที่ส่งให้แก่ผู้ใช้น้ำ เปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพของท่อส่งน้ำว่ารายได้ที่นำส่งเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด

 

 

ปรากฏว่า หลังจากครบกำหนด ส่งผลตรวจสอบภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 และ ขยายเวลาการตรวจสอบอีก 30 วัน จนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านนมา ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใด ๆ จาก นายอาคม รมว.คลัง ว่า จะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร จากผลตรวจสอบของคณะกรรมการฯ นอกจากจะชี้แจงกับ Top News สั้น ๆ ว่า ขอพิจารณารายละเอียดผลตรวจสอบที่ได้รับมาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ รวมถึงภายหลังการประชุมครม. ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายอาคม ยังคงเลี่ยงจะตอบคำถามประเด็นนี้อีกครั้ง โดยการเลือกเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ในจุดที่ไม่มีสื่อมวลชนเฝ้ารอสัมภาษณ์

ในขณะที่ นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุกับ TOP NEWS เช่นเดียวกัน ว่ายังรอคำสั่งจากรมว.คลัง แต่สำหรับกรมธนารักษ์ พร้อมจะเดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างทันที เพราะทุกอย่างได้เตรียมการไว้หมดแล้ว

“ ถ้าท่านสั่งการมาแล้ว แล้วพบว่าไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ก็ต้องเร่งดำเนินการด้วยซ้ำไป เพราะตอนนี้ถือว่ากระบวนการมีความล่าช้า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความเสี่ยงในเรื่องความรับผิดทางละเมิด เพราะถือเป็นการทำให้ขัดขวางผลประโยชน์ของรัฐ หรือ ถ้ารัฐมนตรีสั่งการมาแล้วว่า ไม่มีอะไรผิด หรือไม่ถูกต้อง ให้ดำเนินการต่อไป เราก็ไม่ควรล่าช้า เนื่องจากจะกลายเป็นประเด็นอื่นเกิดขึ้นมา “ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวกับ TOP NEWS

ส่วนข้อคำถามว่า มีเหตุจำเป็นต้องรอคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองหรือไม่ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวย้ำว่า การลงนามในสัญญาโครงการฯ ไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครอง
“ไม่มีเหตุต้องรอ ในเมื่อศาลสั่งไม่คุ้มครอง ถ้าศาลสั่งคุ้มครองก็จบ พอศาลสั่งไม่คุ้มครอง ที่นี้ก็เป็นเหตุในทางฝ่ายบริหาร ถ้าบอกว่าอยู่ ๆ จะไปรอคำสั่งศาล รอโดยอะไร โดยมติของใคร เพราะว่าคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติออกมาแล้วว่าไม่รอ คือเห็นชอบตามข้อสรุปของกรมธนารักษ์”

 

ขณะเดียวกันเมื่อ Top News ตรวจสอบเพิ่มเติมกับศาลปกครอง พบว่า หลังจากที่ศาลปกครอง กำหนดให้กรมธนารักษ์ ยื่นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องของ บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ภายในวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา และมีกำหนดจะเร่งสรุปสำนวนคำร้องเพื่อพิพากษาหรือวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ให้เร็วที่สุดภายในเดือนก .ค.นี้ ถ้าข้อมูลทั้งหมดสมบูรณ์ ครบถ้วน

ปรากฎว่าล่าสุด ทางผู้ถูกร้อง ได้แจ้งขอขยายระยะเวลานำส่งเอกสาร ข้อมูล ประกอบการไต่สวนคำร้อง ไปอีก 30 วัน และ ศาลปกครอง มีความเห็นอนุมัติ โดยสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง หมายถึง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ กรมธนารักษ์ ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2565 นี้ ทั้งที่คดีดังกล่าวยืดเยื้อมานาน และกรมธนารักษ์ มั่นใจว่า การดำเนินทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส ชอบธรรม

และศาลปกครอง เคยมีความเห็นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ระบุชัดเจนว่า กรณีนี้หากการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย

เนื่องจากมาตรา 119 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บัญญัติให้การฟ้องคดีไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จึงย่อมทำให้การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกครั้งแรก

ประกอบกับโครงการพิพาทมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เอกชนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอและทันต่อการณ์ โดยบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคตะวันออก

ดังนี้ หากการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริการสาธารณะด้านการให้บริการสาธารณูปโภค

ศาลจึงมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543

และจากกระบวนการที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า กรมธนารักษ์ และ ผู้เกี่ยวข้อง มีเจตนาจะประวิงเวลา ขั้นตอนยุติธรรมของศาลปกครอง หรือ ไม่ อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลปกครองให้ความเห็นว่า “หากการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าทำสัญญา ในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย ตาม “พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560”

รวมถึงความชัดเจนของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ว่าจะดำเนินการอย่างไร กับผลตรวจสอบจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมา โดยเฉพาะจะยินยอมให้กรมธนารักษ์ เดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง โดยไม่รอคำพิพากษาศาลปกครอง ภายใต้ความเสี่ยงกับค่าโง่ที่ภาครัฐ อาจต้องชดใช้ให้กับภาคเอกชน หรือไม่ จากการที่กรมธนารักษ์เลือกจะล้มผลการประมูลท่อส่งน้ำ EEC ครั้งที่ 1 แล้วตัดสินใจยึดเอาผลประมูลครั้งที่ 2 ให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแทน บริษัท อีสท์ วอเตอร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผบ.ตร.สั่งตรวจสอบดำเนินคดี “กลุ่มน้ำไม่อาบ” ทุกมิติ พร้อมเอาผิดตามหลักฐานคลิปที่ปรากฏ
ขุนเขา ‘ฮว่าซาน’ ่ของจีนสวยสะกดยามห่มหิมะขาว
ทหารพรานจัดกำลังตรวจค้นเก็บกู้บ่วงดักสัตว์ป่า
ผลักดัน ! แรงงานต่างด้าวมากกว่า 100 ราย ออกนอกประเทศ หวั่นเกรงมาสร้างความวุ่นวายในพื้นที่
เมืองคอนน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่ หากผลไม่หยุดตกคืนนี้ตัวเมืองอ่วมอรทัยแน่นอน-ในเบื้องต้นนายอำเภอ,นายกเล็กฯจับมือศูนย์ข่าวนคร 24 ชั่วโมงสมาคมสื่อมวลชนและชมรมรถจิ๊ปลุยช่วยชาวบ้านแล้ว-เรียกร้องเจ้าพนักงานที่ดินเด้งตรวจสอบนายทุนถมลำคลองปิดกั้นทางน้ำว่าออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โซเชียลถามกลับ “พรรคส้ม” รู้ยังมีทหารไว้ทำไม? หลังเกิดเหตุการณ์ "กลุ่มว้าแดงและทหารไทย"
ผบ.สอ.รฝ.ประดับเครื่องหมายเลื่อนยศ นักรบต่อสู้อากาศยาน 46 นาย
‘สามารถ’ คอตกศาลไม่ให้ประกัน เตรียมส่งเข้าเรือนจำ ส่วน ‘แม่’ วางเงิน 5 แสนบาท ได้รับปล่อยตัว
"กองทัพภาคที่ 3" แถลงข่าวแจงพื้นที่ "กองกำลังว้าแดง" ตั้งฐานปฏิบัติการลุกล้ำไทย ยังไม่มีการสำรวจ หรือปักปันเขตแดน
ตึงเครียด! “ว้าแดง” บุกประชิดชายแดนไทย “บิ๊กอ้วน” พูดแล้ว รบ-ไม่รบ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น