ควันหลงเลือกตั้งซ่อมเขต 4 จ. ลำปาง ที่จบไปเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาแบบล็อคถล่ม หลัง เดชทวี ศรีวิชัย อดีตรองนายกเทศมนตรี ต.เวียงนอกเเละ อดีตสมาชิกอบจ.ลำปาง ผู้สมัครหมายเลข 1 จากพรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส คว้าชัยชนะไปครองด้วยคะแนน 55,638 คะแนน โดยทิ้งห่าง วัฒนา สิทธิวัง ผู้สมัครหมายเลข 3 จากพรรคเศรษฐกิจไทย อดีตผู้แทนเก่าสมัยพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ 30,451 คะแนนไปแบบขาดลอยด้วยคะแนนทิ้งห่างกว่า 2.5 หมื่นคะแนนชนิดไม่เห็นฝุ่น ส่งผลให้เกิดเอฟเฟกต์ตามมามากมาย ด้านหนึ่งฝ่ายอ้างประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ฯลฯ นำผลการเลือกตั้งคราวนี้ไปเคลมว่าเป็นแลนด์สไลด์ของฝ่ายประชาธิปไตย ที่คนลำปางแสดงให้เห็นแล้วว่าต้องการเลือกคนของฝ่ายไหนเข้ามาบริหารประเทศ
ขณะที่ฝ่ายผู้แพ้แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทยก็ออกมายอมรับการตัดสินใจของประชาชน บุญสิงห์ วรินทรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะนายทะเบียนพรรค ออกมาวิเคราะห์สาเหตุความพ่ายแพ้มาจาก ความไม่ชัดเจนในบทบาทการทำงานของพรรคว่าอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือเลือกฝ่ายค้านกันแน่ ตรงนี้จึงอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและมองการทำงานของพรรคยังไม่ชัดเจน จึงเป็นช่องว่างทำให้เกิดความไม่เข้าใจได้นอกจากนี้การลงพื้นที่น้อยเพราะไปเน้นงานในสภาหรือกรรมาธิการทำให้ห่างจากพื้นที่ ส่งผลให้การลงไปพบประชาชนทำได้น้อยลง ตรงนี้จึงอาจชะล่าใจไปบ้าง อย่างไรก็ตามต้องมาทบทวนความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางออก ขณะที่ตัวหัวหน้าพรรคอย่าง “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกมาอัพเฟซบุ๊คของตัวเอง พร้อมรับฟังเสียงชาวบ้านและการเปลี่ยนแปลง “ ผมขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่สนับสนุนพรรคเศรษฐกิจไทยและขอแสดงความยินดีกับพรรคเสรีรวมไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวลำปาง ผมเข้าใจแล้วว่าพี่น้องประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงและผมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันครับ” ผู้กองนัสระบายความในใจ
ถัดจากนั้นมาไม่เกิน 48 ชั่วโมง แกนนำพรรค 2 คือ ไผ่ ลิกค์ ส.ส.เขต 1 จ.กำแพงเพชร ในฐานะเลขาธิการพรรค กับ บุญสิงห์ นายทะเบียนพรรคก็ยื่นจดหมายขอลาออกจากการเป็นกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล โดยที่ร.อ.ธรรมนัสระบุเหตุผลที่ไขก๊อกจากเรือแป๊ะว่า หลังการเลือกตั้งซ่อมเขต 4 จ.ลำปาง ที่ผ่านมา ผลคะแนนที่เกิดขึ้นทำให้ทางพรรคเศรษฐกิจไทยต้องมาทบทวนบทบาททางการเมือง จึงได้มีการประชุมพรรค และได้พูดคุยทบทวนการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าพรรคมีความไม่ชัดเจนในบนบาท ในเบื้องต้นได้ให้บุญสิงห์และไผ่ ลาออกจากการเป็นวิปรัฐบาล เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน
จากนี้ไปพรรคเศรษฐกิจไทยก็เตรียมตัวไปทำงานร่วมกับฝ่ายค้านอย่างชัดเจนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยในตอนนี้ยังติดภารกิจอยู่ที่ต่างจังหวัด ซึ่งหลังจากเดินทางมาถึง กทม. จะเข้าพบกับ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพื่อกราบลาในการออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะถือว่าพล.อ.ประวิตร เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และตามธรรมเนียมของคนไทยก็ต้องไปลามาไหว้ แว่วว่า 15 ก.ค.นี้ร.อ.ธรรมนัสจะยกทีมไปลาพี่ใหญ่ป้อมอย่างเป็นทางการจากนี้จะไม่ร่วมสังฆกรรมกันอีกต่อไป เรื่องพรรคผู้กองถอนยวง ใครจะมองยังไงอ้างแบบไหนก็แล้ว แต่กรณีอย่างนี้ต้องบอกว่าแพ้แล้วพาล มาหาแพะรับบาปว่าเป็นเพราะร่วมรัฐบาลอยู่ข้างพล.อ.ประยุทธ์ แต่ความจริงเพราะทำตัวเองเป็นพวกเหยียบเรือสองแคมต่างหากชาวบ้านจึงลงโทษสั่งสอนแต่มาโยนบาปให้บิ๊กตู่
ถามว่าการลาออกจากรัฐบาลมีผลอะไรกับนายกฯกับรัฐนาวาเรือแป๊ะ ก็ต้องบอกว่ามีผลแต่ไม่มาก สำหรับตัวพล.อ.ประยุทธ์น่าจะเป็นเรื่องดีไม่ต้องมีหอกข้างแคร่มาอยู่รบกวนใจอีก ชักเข้าชักออกยังไงก็เอาให้ชัด แถมที่ผ่านมาตัวบิ๊กตู่ก็รู้อยู่แล้วว่าพรรคไหนเป็น “นกสองหัว” หลายศึกที่ผ่านมาจึงไม่ให้ค่าพรรคนี้อยู่แล้ว แต่ที่ต้องเสียหน้าจากการลาออกรอบนี้ก็ต้องเป็นพี่ใหญ่ป้อม เพราะรับเลี้ยงอุปถัมน์ค้ำชูก๊วนผู้กองมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นมุ้งอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ จนปีกกล้าขาแข็งถูกขับไสไล่ส่งจนไปตั้งพรรคเอง แว่วว่าลุงป้อมก็ยังส่งค่าน้ำร้อนน้ำชาช่วยเหลือดูแลมาตลอด เพราะเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงกันมานมนาน แต่รอบนี้ประกาศตัดขาดไม่ร่วมรัฐบาล ทำลูกพี่เสียหน้าพอสมควรเพราะพล.อ.ประวิตรยืนยันมาตลอดว่าพรรคนี้เอาอยู่ก๊วนนี้คุยกันรู้เรื่องมุ้งนี้ไม่มีอะไร จะมีดื้อเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่คนเดียวก็คือตัวผู้กองธรรมนัส ส่วนคนอื่นเข้าใจกันดีหมดเจอลูกงอแงดอกนี้เข้าไปลุงป้อมคงเสียรังวัด เพราะเด็กๆเริ่มเกเรไม่ยอมอยู่ในคาถา
อนาคตจะมีผลกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จ่อคอหอยรัฐบาล 19-22 ก.ค.นี้หรือไม่ บอกได้เลยไม่มีทางทำให้เรือแป๊ะเซ ต่อให้สลับข้างไปทั้งหมดพรรคก็ล้มนายกฯไม่ได้ ย้อนอดีตไปเดือนเศษ จำได้ไหมตอนช่วงอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 วาระแรก รัฐบาลก็เสียงผ่านฉลุย 278 ต่อ 194 มารอบนี้สลับขั้วไปยกพรรคตอนนี้พรรคเศรษฐกิจไทยมีส.ส. 16 คน บวกกันแล้วพรรคฝ่ายค้านก็ได้แค่ 210 คน ยังห่างจากจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 237 คน ของสภาปัจจุบัน 474 คน ที่จะล้มนายกฯคว่ำรัฐบาลลุงตู่ได้อยู่อีกมาก อย่างน้อยต้องหาอีก 27 เสียง โธ่…..พ่อคุณจะไปเอาจากไหน พรรคเล็กกลุ่ม 16 ก็ออกตัวแล้วว่าอยู่ข้างรัฐบาล พรรคเศรษฐกิจไทยจะไปอยู่กับฝ่ายค้านก็เรื่องของเขา แต่เราอยู่กับรัฐบาลอบอุ่นกว่า ล่าสุดก็เพิ่งได้ของขวัญเป็นสูตรหาร 500 ไม่กี่วันจะกลับลำไปตีหัวพล.อ.ประยุทธ์ก็ดูจะเนรคุณเกินไป
หันมามองที่พรรคเศรษฐกิจไทยของผู้กอง เปลี่ยนฝ่ายกลับลำไปฝ่ายค้านอย่าคิดว่าสบาย ย้อนเวลาตอนถูกขับออกมาจากพรรคพลังประชารัฐในก๊วนมี 21 คน ถูกพรรคภูมิใจไทยพลังใบกัญชาดึงไป 3 คน เหลือมาตั้งพรรคตัวเองแค่ 18 คน อยู่ไปอยู่มาทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.โคราชถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แถมล่าสุดวัฒนาก็ล่องจุ๊นแพ้เลือกตั้งซ่อมไปตามระเบียบ ตอนนี้เหลือส.ส.แค่ 16 คน แถมดูทรงแล้วมีแต่สาละวันเตี้ยลงไปหน้า ในกระดานตอนนี้มีบัญชีรายชื่อ 3 คน คือ 1.บุญสิงห์ 2.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ 3. ยุทธนา โพธสุธน ด้านส.ส.เขตหดสั้นเหลือแค่ 13 คน แถมไปดูประวัติตอนเลือกตั้งคราวที่แล้ว 24 มี.ค.2562 ส่วนใหญ่ชนะเลือกตั้งเข้าสภามาแบบเจียนไปเจียนอยู่ มีตั้งแต่เฉือนหลักร้อย ชนะไม่กี่พัน ผูกรวมกันมีแค่ 10 คน ที่เฉือนคู่แข่งมาด้วยคะแนนไม่เกินหมื่นประกอบด้วย 1.ธนะสิทธิ์ โค้วสุรัตน์ 32,630 คะแนน เขต 6 จ.อุบลราชธานี ชนะอันดับ 2 พิสิษฐ์ สันตพันธุ์ พรรคเพื่อไทย 32,289 คะแนน 2. เกษม ศุภรานนท์ 25,982 คะแนน เขต 1 โคราช ชนะอันดับ 2 วงพงศ์ โสมัจฉา พรรคอนาคตใหม่ 23,855 คะแนน 3. ภาคภูมิ บูลย์ประมุข 20,784 คะแนน เขต 3 จ.ตาก ชนะอันดับ 2 ชัยณรงค์ มะเดชะ พรรคเพื่อไทย 19,244 คะแนน 4. สะถิระ เผือกประพันธุ์ 33,967 คะแนน เขต 8 จ.ชลบุรี ชนะอันดับ 2 น.ต.สุรสิทธิ์ ทะวะลัย พรรคอนาคตใหม่ 25,874 คะแนน 5.พรชัย อินทร์สุข 24,781 คะแนน เขต 1 จ.พิจิตร ชนะอันดับ 2 จักรพงศ์ บุบผา พรรคเสรีรวมไทย 20,375 คะแนน
6.ปัญญา จีนาคำ 29,754 คะแนน เขต 1 จ.แม่ฮ่องสอน ชนะอันดับ 2 สมบัติ ยะสินธุ์ พรรคประชาธิปัตย์ 23,050 คะแนน 7. จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ 25,323 คะแนน เขต 3 จ.สมุทรสาคร ชนะอันดับ 2 ปัญญา ชวนบุญ พรรคชาติไทยพัฒนา 23,671 คะแนน 8.สมศักดิ์ คุณเงิน 40,252 คะแนน เขต 7 จ.ขอนแก่น ชนะอันดับ 2 ธนิก มาสีพิทักษ์ พรรคเพื่อไทย 38,010 คะแนน ในการเลือกตั้งซ่อม 9. ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ 35,446 คะแนน เขต 2 จ.สุรินทร์ ชนะอันดับ 2 ชูชัย มุ่งเจริญพร พรรคเพื่อไทย 24,465 คะแนน 10. ทัศนาพร เกษเมธีการุณ 36,473 คะแนน เขต 8 จ.โคราช ชนะอันดับ 2 พลพีร์ สุวรรณฉวี พรรคภูมิใจไทย 34,817 คะแนน มีที่ชนะคนอื่นเกินหมื่นคะแนนเข้าสภามาแบบฉลุยแค่ 4 คนเท่านั้น คือ 1.จีรเดช ศรีวิราช 41,755 คะแนน เขต 3 จ.พะเยา ชนะอันดับ 2 ไพโรจน์ ตันบรรจง พรรคเพื่อไทย 30,761 คะแนน 2.ธนัส ทวีเกื้อกูลกิจ 43,787 คะแนน เขต 1 ส.ส.ตาก ชนะอันดับ 2 นัสชัย มูลสาย พรรคอนาคตใหม่ 19,664 คะแนน 3.ไผ่ ลิกค์ 32,642 คะแนน เขต 1 ส.ส.กำแพงเพชร ชนะอันดับ 2 วีระศักดิ์ สุ่นส่า พรรคเพื่อไทย 18,834 คะแนน และ 4.ร.อ.ธรรมนัส 52,417 คะแนน เขต 1 ส.ส.พะเยา ชนะอันดับ 2 อรุณี ชำนาญยา พรรคเพื่อไทย 21,971 คะแนน
จะเห็นได้เลยว่าส่วนใหญ่ชนะเลือกตั้งเฉือนคู่แข่งมาแบบหืดขึ้นคอทั้งนั้น ที่สำคัญชนะเลือกตั้งคราวที่แล้วเพราะ 2 ปัจจัย หนึ่งคือกระแสความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ และ สองคือความพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐที่มี “อำนาจ เงิน ปืน” ครบครัน แต่เที่ยวหน้าแยกตัวมาเดินเดี่ยวภายใต้แบรนด์พรรคเศรษฐกิจไทย ถามตรงๆว่าจะเอาปัจจัยอะไรมาสนับสนุนให้กลับมาเป็นส.ส. ไม่ได้ดูถูกหรือสบประมาทผู้กอง 16 คนที่มีในมือจะรักษาไว้ได้เท่าไหร่ รอบหน้าพรรคเพื่อไทยไม่มีทางหลีก พรรคก้าวไกลมาหวังจัดเต็ม พรรคเจ๊หน่อยก็ประกาศยึดอีสาน สู้ต่อพรรคเก่ามีแต่ตายกับตาย แนวโน้มถ้าไม่หนีไปพรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ที่รอรับเซ้งต่ออ้าแขนพร้อมรับอยู่แล้ว กระแสก็ดีกระสุนก็เพียบ หรือจะกลับบ้านเก่าคืนถ้ำพรรคพลังประชารัฐก็ยังพอลุ้นเพราะยังไงลุงป้อมก็พร้อมดูแลอยู่แล้ว แต่สู้อยู่ต่อกับผู้กองโอกาสกัดก้อนเกลือกินมีสูง ดูทรงมีแต่ “เจ๊า” กับ “เจ๊ง” อนาคตมืดมน ดูเส้นทางการเมืองในวันข้างหน้า โลกกว้างทางแคบจริงๆนะขอรับ
///////////////////////