วันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แจ้งว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. เปิดเผยผลการลงพื้นที่ตรวจสอบการโฆษณาแพ็กเกจรักษาโรคโควิด-19 ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พบว่าไม่ได้ขออนุมัติและไม่ได้รับอนุมัติให้โฆษณา อีกทั้งในบางแพ็กเกจมีเนื้อหาโฆษณาการรักษาด้วยยา “ฟาวิพิราเวียร์” หรือ “โมลนูพิราเวียร์” สุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล จึงสั่งฟันโทษตามความผิดกฎหมายสถานพยาบาลทันที
ข่าวที่น่าสนใจ
จากการตรวจสอบพบว่าโรงพยาบาลมีการโฆษณาแพ็กเกจรักษาโรคโควิด-19 แบบ Home Isolation ซึ่งมีแพ็กเกจหลายรูปแบบให้ผู้ป่วยเลือกรับบริการ โดยในบางแพ็กเกจมีการโฆษณาด้วยข้อความว่าจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ ให้ผู้ป่วยนำไปรับประทานระหว่างกักตัวตามอาการ แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องสั่งจ่ายและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้สถานพยาบาลห้ามทำการโฆษณายา นอกจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะมาขออนุมัติโฆษณาจากกรม สบส.แต่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวไม่ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติ และไม่ได้รับอนุมัติให้โฆษณาแต่อย่างใด
พนักงานเจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาการกระทำผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว รวมทั้งการโฆษณาแพ็กเกจการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ ก็เป็นการจ่ายยาตามอาการโดยไม่ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในทุกราย ทำให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล ว่าเมื่อเข้ารับบริการแล้วจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ จึงถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว
ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ภาครัฐจัดสรรให้สถานพยาบาลนำมาให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามอาการอย่างเพียงพอ โดยไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด ดังนั้น ประชาชนไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลเนื่องจากอาจจะได้รับยาปลอม หรือยาที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงยาที่ไม่ถูกกฎหมายทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และให้แจ้งมาที่สายด่วนกรม สบส. 1426 และสายด่วน อย. 1556 เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-