นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ยกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่า รฟม. ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เนื่องจากมิชอบด้วยกฎหมาย ว่า ในส่วนของความคืบหน้านั้น จะต้องรอฟังผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ในวันนี้ ( 21 ก.ค.)
โดยตนเองในฐานะรัฐมนตรี มีหน้าที่หลังจาก คณะกรรมการฯ ม. 36 ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากตนเห็นว่า ให้มีการทบทวนก็จะสั่งให้ดำเนินการ แต่จะต้องรอรายงานจากคณะกรรมการ ม.36 ซึ่งคณะกรรมการฯ จะต้องทำหน้าที่ตามอำนาจที่มี
โดยเฉพาะการตัดสินใจว่า ขั้นตอนประกวดราคาครั้งใหม่ ซึ่ง รฟม. กำหนดเปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคา ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 จะเดินหน้าต่อหรือไม่ เนื่องด้วยคณะกรรมการม.36 ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลปกครองมาหารือร่วมกัน แต่จากรายงานที่ได้รับมาเบื้่องต้น ทางด้านของรฟม. ได้มีการหารือร่วมกับอัยการสูงสุดแล้ว ส่วนการยื่นอุทธรณ์ ยังคงดำเนินการตามหนังสือสั่งการของกระทรวงการคลัง ภายใน 30 วัน
ล่าสุด หลังใช้เวลาประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ทีมข่าว TOPNEWS ได้ขอคำชี้แจงจากทางคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ปรากฏว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถาม หรือผลการประชุมเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ของรฟม. ได้พยายามกีดกันผู้สื่อข่าวไม่ให้สัมภาษณ์ คณะกรรมการฯ
มีเพียง ดร.ไกร ตั้งสง่า หนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ระบุว่า ก็รับทราบว่าศาลตัดสินว่ายังไง และเมื่อผู้สื่อข่าว ถามว่ามีแนวทางการดำเนินการต่อไปอย่างไร ดร.ไกร กล่าวว่า วันนี้วาระคือ รับทราบผลคำพิพากษา แต่ว่าอันนั้นก็เป็นเรื่องคณะกรรมการชุดเดิม ของผมเป็นชุดใหม่ รับทราบว่าเป็นอย่างนี้ ส่วนรายละเอียดผลการประชุมทั้งหมด ให้รอการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากรฟม.
ทั้งนี้ มีรายงานว่าคณะกรรมการ มาตรา 36 ส่วนใหญ่ ยังเห็นชอบให้รฟม.ดำเนินการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้มตามกำหนดเดิม หรือ เปิดให้บริษัทเอกชนยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ต่อไป โดยอ้างว่าเนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองที่ผ่านมา ไม่ได้มีข้อห้ามให้รฟม.กลับไปใช้ทีโออาร์หรือหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 1 เพียงแต่ระบุการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ทีโออาร์ เป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ยกเลิก รวมถึงรฟม.อยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองดังกล่าว