แหล่งข่าวจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเชี่ยวชาญด้านการควบรวมกิจการ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในการควบรวมกิจการผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ระหว่างบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (ทรู)และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีแทค) ว่า สร้างความสับสน และ มีการตีความไปหลายรูปแบบ ซึ่งการควบรวมในกิจการโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ) จะต้องอ้างอิงหลักกฎหมายให้แม่นยำ เพราะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย และยังเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ซึ่ง กสทช.ต้องแยกประเด็นความแตกต่างระหว่างการควบรวมกิจการ กับ การซื้อกิจการ เพราะหากยังแยกประเด็นนี้ไม่ออก กสทช.จะเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นได้ ทั้งนี้ประกาศ กสทช.ปี 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับนั้น กำหนดว่า การควบรวมกิจการ หมายถึง การที่บริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไปตกลงรวมกิจการกัน เกิดเป็นบริษัทใหม่ โดยบริษัททั้งสองจะร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทใหม่ เช่น กรณีควบรวมของทรู และ ดีแทค หลังการควบรวมจะถือหุ้นใกล้เคียงกัน บริหารแบบไม่มีรายใดรายหนึ่งบริหารเบ็ดเสร็จ แต่เป็นแบบ Equal Partnership ขณะที่ การซื้อกิจการ คือ การที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้อกิจการของอีกบริษัทหนึ่ง โดยบริษัทที่เข้าซื้อจะเข้าไปเป็นเจ้าของบริษัทที่ถูกซื้อ โดยหุ้นของบริษัทที่ถูกซื้อจะไม่ถูกยกเลิกไป เช่น เอไอเอส จะเข้าซื้อ 3BB จะทำให้ชมาเป็นเจ้าของ 3BB ต่างกับ กรณีของทรู และ ดีแทค ที่ไม่มีการเข้าซื้อกิจการของอีกฝั่ง
“ดังนั้น การควบรวมกิจการ ของ ทรู และ ดีแทค คือ การที่บริษัทสองบริษัทมาควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ โดยบริษัททั้งสองจะร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทใหม่ ซึ่งเมื่อเกิดการควบรวมแล้ว หุ้นของบริษัททั้งสองจะถูกยกเลิกไปโดยจะมีการออกหุ้นของบริษัทใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองแทน ซึ่งการควบรวมนั้นมักจะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทที่มีขนาดใกล้เคียงกัน”
แหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่สังคมต้องการความชัดเจนว่า กสทช. มีหรือไม่มีอำนาจในการอนุมัติ หรือไม่อนุมัติหรือไม่ ทำให้นักวิชาการบางส่วนหยิบยกบางบรรทัดของคำตัดสินศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.65 ที่ยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามคำร้องของนายณภัทร วินิจฉัยกุล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) โดยเห็นว่ายังรับฟังไม่ได้ว่าประกาศฯ กสทช.ฉบับดังกล่าว น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า ผู้ร้องสอดทั้งสอง (ทรู และดีแทค) ยังมิได้จดทะเบียนทำให้เกิดนิติบุคคลใหม่ขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือได้มีการทำสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการรวมธุรกิจตามกฎหมาย จึงไม่มีความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การแก้ไขในภายหลังตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้าง
“สรุปให้ชัด ๆ คือ มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ปี 60 นั้น ถูกต้องแล้วด้วยกฎหมายนั่นเอง ดังนั้น กสทช. ต้องไปทำความเข้าใจมาตรการการควบรวมธุรกิจให้ชัดเจน อย่าไปยกประกาศผิดฉบับ ที่พูดถึงการเข้าซื้อกิจการเด็ดขาด เพราะหากนำกฎหมายผิดฉบับมาอ้างอิง อาจไม่สามารถปัดความรับผิดชอบทางกฎหมายได้”
ส่วนประเด็นว่ากสทช. มีอำนาจอนุมัติ หรือไม่ ก็มีการตีความคำสั่งศาลปกครอง สรุปแบบข้ามบรรทัดว่า “‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ทรู-ดี ทค ซึ่งไม่ตรงกับประกาศของ กสทช. เรื่องการรวมกิจการที่ศาลปกครองรับรองแล้วว่าถูกต้องด้วยกฎหมาย คือ“กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามวรรคหนึ่ง อาจส่งผลให้เกิดผูกขาด หรือ ลด หรือ จำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการอาจสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือ กำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ก็ได้ จึงเป็นกรณีที่เมื่อผู้ร้องสอดทั้งสองจะรวมธุรกิจกันซึ่งจะต้องมีการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ของผู้ร้องสอดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสองยังคงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีอยู่นั่นเอง”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าประเด็นที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นกรณีของการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งจะต้องขออนุญาตจาก กสทช. ในการอนุมัติ แต่หากเป็นการควบรวม ที่ไม่มีการซื้อหุ้น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ของอีกฝั่ง ต้องอ้างอิง ประกาศกสทช.ปี61 ที่ศาลปกครองรับรองแล้วว่าชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตามจากประกาศมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ ข้อ 12 กำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายใน60สิบวันนับแต่วันที่ได้รับ ความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ หากการรวมธุรกิจตามข้อ 5 ส่งผลให้ ตลาดที่เกี่ยวของมีดัชนี (HHI) มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครอง โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันให้ตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ
“ดังนั้นแทนที่กสทช. จะอ้างศาลปกครองว่า มีอำนาจในการอนุมัติหรือไม่ ควรใช้เวลาในการหารือ เพื่อกำหนดเงื่อนไข เพื่อลดผลกระทบต่อสาธารณะ จะทำให้สังคมสบายใจ และ เดินหน้าตามกรอบของประกาศที่กสทช. ระบุไว้เอง เพื่อจะไม่ได้ต้องเข้าสู่ข้อครหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ หรือ การมีธงในการคัดค้านการควบรวมมาก่อนการพิจารณา หากประวิงเวลานอกจากจะทำให้เสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้ว ยังทำให้อุตสาหกรรมอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ อีกทั้ง การใช้กฎหมาย ต้องทั้ง กำกับ และ ดูแล มิใช่ ทำให้ผู้ประกอบการอ่อนแอ ทั้งที่มีเครื่องมือกำหนดมาตรการแต่กลับไม่นำมาใช้ การปรับตัวของอุตสาหกรรมเป็นเรื่องธรรมดาในทุกประเทศ หากกังวลก็ออกมาตรการ แต่หาก กสทช. ออกท่าพิสดาร สวนทางประกาศ กสทช. ที่ดำเนินการมาแล้วหลายกรณี อันนี้ก็ตัวใคร ตัวมัน เพราะสุดท้ายไม่รู้ว่า ที่ได้มา จะคุ้มเสียหรือไม่”แหล่งข่าวระบุ