วันนี้(30 ก.ค.65) นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยความสำเร็จในการยับยั้งการละเมิดงานลิขสิทธิ์ของคนไทยที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จากกรณีห้องเสื้อในประเทศกัมพูชานำงานออกแบบลายไทย “ราหูอมจันทร์” ของศิลปินไทย ฐิติ เกตุธรรม ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุด เอกชนกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ พร้อมยุติการละเมิดลิขสิทธิ์และระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับศิลปินไทย
พาณิชย์ รับหนังสือขอโทษจากเอกชนกัมพูชา เหตุนำงานลิขสิทธิ์ “ราหูอมจันทร์” ของคนไทย ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้านศิลปินไทยกล่าวขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งช่วยเหลือปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ข่าวที่น่าสนใจ
นายสินิตย์ เปิดเผยว่า “เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เกิดกรณีห้องเสื้อในกัมพูชานำผลงาน การออกแบบ ‘ราหูอมจันทร์’ ของคุณฐิติ เกตุธรรม ศิลปินคนไทย ไปใช้บนชุดผู้เข้าประกวด Miss Universe 2022 ของกัมพูชา โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและปกป้องผลงานความคิดของคนไทย โดยประสานส่งหลักฐานการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินไทยไปยังกรมลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง (Department of Copyright and Related Rights) กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรม ประเทศกัมพูชา พร้อมเรียกร้องให้เอกชนกัมพูชายุติการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวทันที ซึ่งล่าสุดห้องเสื้อของกัมพูชาได้แสดงความรับผิดชอบต่อไทยและศิลปินผู้สร้างสรรค์คนไทย โดยแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการพร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะ และให้คำมั่นยุติทุกการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์และสร้างความเสียหายให้แก่ศิลปินไทย”
ด้านนายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินเจ้าของผลงาน ‘ราหูอมจันทร์’ กล่าวว่า “ขอขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความช่วยเหลือและดำเนินการเชิงรุก จนสามารถเรียกร้องสิทธิให้กับศิลปินไทย และยุติปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศกัมพูชาได้อย่างรวดเร็ว อันจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งได้อย่างแน่นอน”
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สร้างความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหากรณีคนไทยถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจร เพื่อให้นักธุรกิจภาคเอกชนเข้าถึงองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ผ่านศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) การจัดทำระบบโชว์รูมลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Copyright Publish) ช่องทางสร้างรายได้จากงานลิขสิทธิ์ และบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ ทางเลือกในการยุติข้อขัดแย้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล เป็นต้น โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1368”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-