ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. วันที 4 ส.ค.2565 ณ อาคารกิจกรรมวงเวียนพระครูปะกำ ศูนย์คชอาณาจักร บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ขอเชิญชมร่วมงาน “การสืบสานตำนานช้างไทย” (กิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง) การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน ระหว่างวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2565 ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ ด้านศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี อารยธรรมอีสานใต้ และร่วมอนุรักษ์วิถีชีวิตคนกับช้างจังหวัดสุรินทร์ให้คงอยู่สืบไป
สำหรับจังหวัดสุรินทร์ในอดีต ประชากรประกอบด้วยชนชาติต่างๆ เช่น ชาวไทย-กูย ไทย-ลาว และไทย-เขมร ซึ่งปลูกข้าวมาแต่โบราณมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวมากมาย รวมถึงการเลี้ยงช้างเพื่อช่วยงานเกษตรกรรม และปัจจุบันเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ ขาวดอกมะลิ เมล็ดพันธุ์ ข้าวที่บริสุทธิตรงตาม พันธุ์และมีปริมาณมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งได้มีการส่งเสริมการทําเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เกษตรกรมีการปลูกข้าวหอมมะลิเป็นพืชหลักจนมีชื่อเสียง ซึ่งชาวสุรินทร์กล่าวว่า “ข้าวหอม มะลิสุรินทร์ หอม ยาว ขาว นุ่ม” สุรินทร์ยังเป็นจังหวัดหนึ่ง ที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมานานและได้สืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมานานจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และจังหวัดสุรินทร์ ยังเป็นเมืองเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีช้างเลี้ยงส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 อำเภอหลักๆ ประกอบด้วย อำเภอท่าตูม จำนวน 449 เชือก อำเภอชุมพลบุรี จำนวน 109 เชือก และอำเภอเมืองสุรินทร์ ประมาณ 60 กว่าเชือก ทั้งนี้ในพื้นที่ของอำเภอท่าตูมและอำเภอชุมพลบุรี ชนพื้นเมืองชาวกูยจะนิยมเลี้ยงช้างมาแต่โบราณ มีประวัติเล่าขานสืบต่อกันมาว่า มีชาวกูย ที่เรียกกันว่า “มะ เสดียง สดำ” สมัยก่อนนิยมไปจับช้างป่ามาเลี้ยงใช้งานในชีวิตประจำวันเสมือนสมาชิกในครอบครัว และนิยมใช้ช้างซึ่งเป็นสัตว์มงคลในการแห่ตามงานประเพณีและพิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 62 กิโลเมตร ชาวบ้านนิยมเลี้ยงช้างประจำบ้านไว้เป็นจำนวนมากซึ่งคนทั่วไปจะรู้จักบ้านตากลางในนาม “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง”
จังหวัดสุรินทร์ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและการบริการของจังหวัดสุรินทร์ มีศักยภาพในการแข่งขันและการประชาสัมพันธ์ควบคู่กับการส่งเสริมการตลาดเชื่อมโยงกับการดำเนินงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ จึงนำประวัติของชาวกูย หรือตำนานคนเลี้ยงช้างจังหวัดสุรินทร์ ชีวิตและความเป็นอยู่และการค้าขายของคนจังหวัดสุรินทร์ ในสมัยดั้งเดิมของคนสุรินทร์ การเล่าขานตำนานช้างไทย หรือตำนานของคนเลี้ยงช้างจังหวัดสุรินทร์ มาจัดงานเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้นเป็นอีกหนึ่งโครงการ เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเที่ยวจังหวัดสุรินทร์และกระตุ้นเศรษฐกิจ รายได้และการบริการให้กับคนสุรินทร์เพิ่มมากยิ่งขึ้น
โดยจังหวัดสุรินทร์ได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อให้นักท่องเที่ยว ได้สนุกสนาน เพลิดเพลิน รวมทั้งชมความน่ารักของช้างสุรินทร์ ชมศิลปะวัฒนธรรมประเพณี ผ่านการแสดงแสงสีเสียง งานสืบสานตำนานช้างไทยภายใต้กรอบแนวคิด “เล่าขานตำนานช้างไทย คชศาสตร์คู่แผ่นดิน สืบสานหัตถศิลป์ สุรินทร์แดนผ้าไหมงาม” โดยมีองก์การแสดง(ฉาก) ดังนี้
องก์ที่ 1 รอยอารยะธรรมปราสาทตาเหมือน (ปราสาทสองแผ่นดิน สุรินทร์-กัมพูชา)
การเดินแบบแฟชั่นโชว์ ชุดขอมโบราณ “ศิราภรณ์แห่งศรัทธา ปราสาท 2 แผ่นดิน”
องก์ที่ 2 คชสารป้องปฐพี (ยุทธหัตถี)
องก์ที่ 3 การจับช้างป่า (โพนช้าง)
การเดินแบบแฟชั่นโชว์ “แพรพรรณห่มแผ่นดินถิ่นวิถีชาวสุรินทร์”
องก์ที่ 4 ตำนานความภักดีจารึกแผ่นดิน
องก์ที่ 5 วิถีช้าง วิถีชน ชาวสุรินทร์
การเดินแบบแฟชั่นโชว์ชุดฟินาเล่” “มหัศจรรย์ภูษาถักทอคุณค่างานช้างสุรินทร์”
จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวทุกท่าน เที่ยวชมงาน“สืบสานตำนานช้างไทย” (กิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง) การ
พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน ระหว่างวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2565 ณ สนามแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในครั้งนี้ด้วย.
ศูนย์ข่าวภูมิภาค TOP NEWS ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ