ภายหลังจากศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัย ไม่คุ้มครองชั่วคราว การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายใต้เงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ แม้ว่าก่อนหน้าจะมีพิพากษา เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว
และเพิกถอนประกาศของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวน ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติ และตั้งแต่วันที่ รฟม. มีประกาศดังกล่าว เนื่องจากวินิจฉัยเห็นว่า การเพิกถอนมติยกเลิกการประกวดราคาของ คณะกรรมการมาตรา 36 และคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาของผู้ว่า รฟม. “ถือเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง ได้โพสต์ข้อมูลถึงประเด็นร้อนดังกล่าวอีกครั้ง ตามที่เคยตั้งข้อสังเกตุเรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้ร่วมประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า เป็นไปเพื่อผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดเป็นกรณีเฉพาะหรือไม่ และทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS “ผู้เดินรถไฟฟ้ารายแรกของไทย” ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูล
โดยมีเพียง (1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ (2) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับ Incheon Transit Corporation จากเกาหลีใต้ เท่านั้นที่ยื่นเอกสารร่วมประมูล จาก 14 บริษัทที่ซื้อเอกสารคัดเลือกร่วมประมูลโครงการ