เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดป่าพิมลมังคลาราม ต.ทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ พระมหาสมัย ปัญญาวโร เปรียญธรรม 6 ประโยค รักษาการแทน พระศรีญาณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดป่าพิมลมังคลาราม พร้อมด้วย นายบุญจันทร์ บัวหุ่ง ประธานที่ปรึกษากรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม นายสมัย เพ็งแจ่ม ที่ปรึกษา นายอรกิต เพ็งแจ่ม ที่ปรึกษา นายทนงศักดิ์ อุทุม ที่ปรึกษา นายจำลอง สาวะภู รองประธานกรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม ร่วมกับ คณะกรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม ได้จัดการประชุมคณะกรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม ครั้งที่ 1/2565 ขึ้น ทั้งนี้เพื่อแจ้งคำสั่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัดป่าพิมลมังคลารามที่ได้รับการแต่งตั้ง เรื่องบทบาทอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส รักษาการเจ้าอาวาส คณะกรรมการ ไวยาวัจกรตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์และเรื่องการพัฒนาวัดป่าพิมลมังคลาราม ในช่วงระยะเวลาผ่านมาที่ท่านเจ้าคุณพระศรีญาณวิเทศ ได้มาพัฒนาไม่ถึง 3 ปี ทำให้วัดมีความเจริญก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายจำลอง สาวะภู รองประธานกรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม เป็นประธานในการประชุม เพื่อดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุม โดยมีคณะกรรมการวัดป่าพิมลมังคลารามที่ได้รับแต่งตั้งมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งหลังจากการประชุมเสร็จแล้ว คณะกรรมการวัดได้ไปร่วมกันดำนาวิถีชุมชนภายในบริเวณวัด โดยจะดำวันแม่ไปเกี่ยวข้าววันพ่อ ขณะที่ภายในบริเวณวัดมีนักท่องเที่ยวพากันมากราบไหว้พระและเที่ยวชมความสวยงามของธรรมชาติที่สวยงาม สะพานแขวนเชื่อมสัมพันธ์ สะพานไม้ชมวิวริมห้วยสำราญ และยังได้ดื่มด่ำกับกาแฟรสชาติดีๆ หอมละมุน ที่ร้าน inec coffee ร้านกาแฟ “วัด”แต่รสชาติ “อินเตอร์” คอกาแฟที่มานั่งชิมกาแฟแล้วต่างพากันยืนยันว่าอร่อยจริง
นายบุญจันทร์ บัวหุ่ง ประธานที่ปรึกษากรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม กล่าวว่า พระศรีญาณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดป่าพิมลมังคลาราม ได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าอาวาสวัดปากน้ำมิชิแกน USA. ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นเวลานาน พร้อมกันนี้ท่านได้แต่งตั้งให้พระมหาสมัย ปัญญาวโร เปรียญธรรม 6 ประโยค ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณตั้งแต่เป็นสามเณร และได้ติดตามอาจารย์เจ้าคุณไปช่วยงานที่ต่างประเทศ ให้มาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าพิมลมังคลารามแทนท่าน ซึ่งท่านเจ้าคุณได้เสนอโครงการเพื่อพัฒนาวัดในปีงบประมาณ 2565 จากภาครัฐไว้ 5 โครงการและ 1โครงการร้านกาแฟเพื่ออุปถัมภ์ค่าใช้ง่ายและค่าน้ำค่าไฟวัด ซึ่งที่ประชุมได้หาแนวทาง วิธีการ ที่จะรักษาสิ่งที่พัฒนาไว้แล้วให้คงอยู่ต่อไป และวางเป้าหมายในการพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการพัฒนา ให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น ชุมชน และสังคมต่อไป
นายจำลอง สาวะภู รองประธานกรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอโครงการที่จะติดตั้งประตูหน้าของศาลาการเปรียญ และการติดตั้งระบบไฟฟ้าให้ถาวร การจัดกิจกรรมพัฒนาวัดป่าพิมลมังคลาราม ยึดฮีต 12 คลอง 14 เป็นแนวทาง โครงการผลิตโรงน้ำดื่ม น้ำแร่ ของวัด iNEC water โดยใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น การจัดตั้งศูนย์ภาษา(อังกฤษ) ศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับวัดปากน้ำมิชิแกน USA. โครงการปลูกผักออร์แกนิคและผักไฮโดรโปนิค โดย คุณสิงโต จากประเทศญี่ปุ่น กำหนดวันงานบุญมหาสังฆทาน ประจำปี วันที่ 27 ส.ค. 2565 กำหนดวันเปิดศูนย์ใกล่เกลี่ยข้อพิพาท วันที่ 28 ส.ค. 2565 และกำหนดวันเปิดร้านกาแฟ inec coffee ร้านกาแฟ “วัด”แต่รสชาติ “อินเตอร์” ในวันที่ 9 ก.ย. 2565 โดย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีครั้งนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามริมห้วยสำราญ
นายจำลอง สาวะภู รองประธานกรรมการวัดป่าพิมลมังคลาราม กล่าวต่อไปว่า ร้านกาแฟ iNEC COFFEE วัดป่าพิมลมังคลาราม เป็นร้านกาแฟ “วัด” แต่รสชาติ “อินเตอร์” ดังสโลแกนร้านที่ว่า “INEC coffee มีดีที่รสชาติ” เป็นร้านกาแฟที่เกิดมาจากแนวคิดของท่านเจ้าคุณพระศรีญาณวิเทศ (พิมล ญาณวิมโล คำเครื่อง ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดป่าพิมลมังคลารามและเจ้าอาวาสวัดปากน้ำมิชิแกน รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ปรารถนาอยากจะให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ดื่มด่ำกับรสชาติแท้ กาแฟดี ที่ราคาจับต้องได้ ท่านเจ้าคุณได้นำหลักธรรมมาลงมือทำ มาใช้ในการพัฒนา โดยสร้างคำให้จำง่ายติดปาก เป็นภาษาอังกฤษ 5 ตัวอักษร คือ INEC ซึ่ง i ตัวที่หนึ่งคือ integrate หมายถึง การบูรณาการสรรพสิ่งหลอมรวมเข้าด้วยกัน N ตัวที่สองคือ Nature/Neutral หมายถึงธรรมะ(ธรรมชาติ) ทางสายกลาง E ตัวที่สามคือ Environment/Economy หมายถึงสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ และ C ตัวสุดท้ายคือ Community/Connection หมายถึงเพื่อชุมชนยั่งยืนชื่นประสาน ดังนั้น เมื่อนำอักษรทั้ง 4 ตัวอักษรมารวมกันเข้าก็จะหมายถึงการบูรณาการธรรมะหรือธรรมชาติ ศาสนา ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาคือทางสายกลาง ศิลปะวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพื่อหลอมรวมประสานชุมชนอย่างยั่งยืน ดังนั้น เป้าหมายของโครงการ ก็คือการหลอมรวมสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมาเข้าด้วยกัน จนทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอการพึ่งพาจากภายนอก โดยใช้ iNEC model นี้แหละ เป็นแกนกลางในขับเคลื่อน แต่เมื่อว่าโดยสรรพกำลัง ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณในการดำเนินการ เราไม่สามารถทำเป็นโครงการใหญ่ ๆ เหมือนภาครัฐได้ เราจึงเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก่อน นั่นคือเริ่มจากในวัดป่าพิมลมังคลาราม ซึ่งมีชุมชนเล็กๆ อยู่ 2 ชุมชน คือ บ้านโนนแดงกับบ้านโนนม่วง หากต่อไปภายภาคหน้าโครงการนี้เกิดเข้มแข็งมั่นคงยั่งยืนก็อาจจะขยายไปยังชุมชนอื่นๆ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หรือระดับประเทศต่อไป ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือภาครัฐในการพัฒนาประเทศชาติในโอกาสต่อไป.
ภาพ/ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ