กว่า 2 เดือนแล้ว หลังการเข้าทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์พร้อม ๆ กับสารพัดคำยืนยัน ในนโยบายหลัก เดินหน้าแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ค้างมาจากยุคอดีตผู้ว่าฯ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ว่า พร้อมจะจัดการแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และวิธีการต่าง ๆ ถูกนำเสนอต่อสาธารณชน ให้มั่้นใจทุกอย่างจะลุล่วงโดยเร็ว เพราะขั้นตอนทุกอย่างเหลือแค่รอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.65 นายชัชชาติ ได้เชิญผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT เข้าหารือถึงปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลังหารือ ออกมาระบุว่า จะเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินสะสมรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดกว่า แสนล้านบาท โดยคาดว่า 1 เดือนได้ข้อสรุป
โดยภาระหนี้ที่เกิดขึ้น นายชัชชาติ ระบุชัดเจนว่า อยากจะคืนหนี้ พร้อมอ้างมติของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ว่าให้กทม.เดินรถสายสีเขียว ส่วนการรับภาระหนี้จะต้องมีการหารือกัน 3 ส่วน คือ คือ กทม. กระทรวงคมนาคม และคจร. ซึ่งกระบวนการตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า การรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานนั้นได้ผ่าน รัฐสภากทม.มาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้สินที่คงค้างประมาณ 4 หมื่นล้าน บริษัท กรุงเทพธนาคม ได้ทยอยชำระอย่างต่อเนื่องทุกเดือน แม้ว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกวัน หากมีความจำเป็นต้องชำระหนี้ กทม.มีหลายแนวทาง เช่น การกู้เงินจากรัฐ เป็นต้น ซึ่งหนึ่งแนวทางที่จะลดภาระหนี้สิน คือการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสอง ที่ปัจจุบันยังให้บริการฟรี มานาน และมองว่าไม่สมเหตุสมผล
ส่วนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 จะต่อไม่ต่อนั้น นายชัชชาติ ระบุว่า เป็นความเห็น ของคณะกรรมการมาตรา 44 ซึ่งเห็นด้วยต่อการขยายสัมปทาน โดยมองว่าในหลายเรื่องจะต้องให้สภากทม. ร่วมพิจารณาด้วย ในเรื่องของขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติว่า มีความครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งหากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะต้องรายงานกระทรวงมหาดไทยให้ได้รับทราบ
จนมาถึงล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายชัชชาติ มีแนวคิดจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ในส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อนำมาจัดสรรเป็นรายได้ของกทม.และเป็นค่าใช้จ่ายคืนหนี้ให้กับภาคเอกชน โดยกำหนดเก็บค่าโดยสารอัตราสูงสุดอยู่ที่ 59 บาท ตลอดสาย และคาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารได้ช่วงปลายเดือนกันยายน 2565
ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปช่วงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ พูดถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไว้หลายครั้ง เช่น ราคา 25-30 บาทมีความเป็นไปได้ , หากแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ เป้าหมาย คือ การหาทางออกให้ค่าโดยสารถูกลง …มีความเป็นไปได้ในการเจรจาให้ราคาค่าโดยสารลดลงมาได้ถึง 25 บาท เป็นต้น
อีกด้านหนึ่ง ถ้าย้อนกลับไปพิจารณา แนวทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เริ่มมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่อง การพัฒนาระบบขนส่งประเทศ และ การแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ( ส่วนต่อขยาย) ที่ค้างข้อสรุปมาจากรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
จึงเป็นที่มาของคำสั่งคสช. 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ให้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โอนความรับผิดชอบ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) จากรฟม.ให้กทม.รับผิดชอบ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นระบบเดียวกัน
พร้อมกันนี้ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีปลัดมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง , ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , อัยการสูงสุด , ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง เพื่อให้ศึกษาแผนการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างภาครัฐและเอกชน
โดยเฉพาะการพิจารณาความเหมาะสมแนวทางการแก้ปัญหา ภายหลังการโอนย้ายความรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก รฟม.มาให้ กทม.