วันที่ 19 สิงหาคม นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้สัมภาษณ์ท็อปนิวส์ กรณีเครือข่ายนักวิชาการ 8 มหาวิทยาลัย จับมือกับ 8 สื่อดิจิทัลออนไลน์ เตรียมเปิดให้ประชาชนโหวตแสดงความเห็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีหรือไม่? ในวันที่ 20-21 สิงหาคมนี้ ว่า ทุกวันนี้สื่อ เป็นสื่อที่เลือกข้างกันเยอะ ไม่ใช่สื่อที่เป็นกลาง ซึ่งตนก็โอเคกับสื่อที่เลือกข้าง ไม่ได้มีปัญหาอะไรจะเลือกข้างไหนก็ได้ มีนักวิชาการเลือกข้าง สื่อเลือกข้าง มีมวลชนเลือกข้าง เป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันได้ เป็นเสรีภาพ แต่เวลาทำโพล หรือผลสำรวจ เราต้องการตัวแทนที่เป็นกลางจริง ๆ ที่จะทำให้ผลโหวตหรือผลโพลออกมามีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นตัวแทนประชากรที่เราจะศึกษาอย่างแท้จริงซึ่งจะทำให้ผลโหวตหรือผลโพลนั้น เชื่อถือได้ในทางวิชาการ
อานนท์ ซัดสื่อ นักวิชาการ อคติทำโพลวาระ 8 ปีนายกฯ มุ่งหวังจุดกระแสติด หากคำวินิจฉัยศาลรธน.ออกมาไม่ตรงใจ แฉมีโพลผีโม่แป้งเยอะ ระยะยาวไม่ส่งผลดีต่อสังคม ทำคนแตกแยก
ข่าวที่น่าสนใจ
“ถ้าเกิดว่าสื่อเลือกข้าง เช่นสื่อเลือกข้างที่ไม่เอานายกรัฐมนตรี เลย บวกกับนักวิชาการเลือกข้างที่ไม่เอานายกรัฐมนตรีเลย ร่วมกันทำโพลแล้วโหวตกันบนสื่อของตัวเอง แน่นอนว่าเมื่อเป็นสื่อเลือกข้างแล้ว ผู้ชมก็ต้องเลือกข้างแล้วเช่นกัน ผู้ชมเลือกข้าง สื่อเลือกข้าง นักวิชาการเลือกข้าง ก็เลือกข้างเดียวกันหมด ผลที่ได้จากการโหวตหรือผลจากการทำโพล โดยสื่อเลือกข้าง นักวิชาการเลือกข้าง มันจะเอียงกระเท่เร่ ไปทางใดทางหนึ่ง เป็นไปในแนวทางที่เขามีในใจกันมาก่อน บนมวลชน บนสื่อของเขา และนักวิชาการฝั่งเดียวกัน ถามว่าผิดอะไรทางกฎหมายไหม มันไม่ได้ผิดอะไรทางกฎหมาย แต่ถามว่าความน่าเชื่อถือทางวิชาการของผลโพลหรือผลโหวตนั้นจะเชื่อได้แค่ไหน คำตอบก็คือมันเชื่อไม่ค่อยได้ และคนเราก็จะเลือกเสพสื่อข้างที่เราอยากจะได้ยิน เสพข่าวที่เราอยากได้ยินเพื่อไปยืนยันอคติที่เรามีอยู่แต่เดิม ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้น เมื่อเราอยู่ในวงจรนี้มาก ๆ เข้า บ้านเมืองก็จะเกิดความแบ่งแยกทางความคิดที่รุนแรงขึ้น มีความเห็นต่างกันมากขึ้น ขั้วความเห็นทางการเมืองก็จะชัดขึ้น รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความแตกร้าวในบ้านเมืองได้ ก็เป็นสิ่งที่อยากจะเตือนสติสังคมให้ระวัง”นายอานนท์ กล่าว
ต่อข้อถามว่าจุดประสงค์ของกลุ่มนี้ต้องการอะไร นายอานนท์ กล่าวว่า เพื่อยืนยันอคติความเชื่อของตัวเอง และต้องการหาคนมาเป็นพวกเพื่อสนับสนุนความคิดของตัวเองในการนำเสนอ ว่ามีคนคิดเหมือนเรามากเหลือเกิน จะทำให้ดูมีเครดิต แต่ในความเป็นจริงเขาลืมไปว่าเมื่อคุณถามคนพวกเดียวกัน กลุ่มคนเดียวกัน มันจะวนอยู่แค่นั้น เป็นการพายเรือในอ่าง ไม่ได้ความหลากหลายทางความคิด และความน่าเชื่อถือก็ไม่มี แม้จะมีตัวเลข มีสถิติ มาอ้าง ทำให้น่าเชื่อถือ แต่จริง ๆ มันไม่น่าเชื่อถือ
เมื่อถามว่าถ้าทำโพลโดยไม่มีหลักวิชาการ การทำแบบนี้จะส่งผลอย่างไร นายอานนท์ กล่าวว่า ก็ทำให้คนไม่ค่อยเชื่อถือโพล เราในฐานะคนเสพสื่อ ที่บริโภคข้อมูล ตัวเลข หรือสถิติ สิ่งที่จะต้องมีคือต้องรู้ทันตัวเลข ข้อมูล และเราจะรู้ว่าโพลอันนี้เชื่อได้ โพลอันนี้เชื่อไม่ได้ เราต้องระวังมากขึ้น แต่ในมุมกลับกันถ้ามีบ่อย ๆ มาก ก็มีคนจำนวนมากที่แยกแยะไม่เป็นว่าอันนี้เป็นสื่อเลือกข้าง ผลโพลเลือกข้าง ก็จะยึดถือว่าเป็นของจริง เชื่อถือได้ทางวิชาการ ทั้งที่จริงมันเชื่อถือไม่ได้ มันก็จะมีคนที่ไม่รู้เท่าทันสื่อ ไม่รู้เท่าทันข้อมูลเยอะขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลกับประเทศ เพราะประเทศจะเติบโตได้ต้องมีคนที่รู้เท่าทันและคนที่ฉลาด ทันต่อข้อมูลสารสนเทศ
ต่อข้อถามว่ามีหนทางป้องกันหรือยับยั้งการทำโพลแบบนี้หรือไม่ นายอานนท์ กล่าวว่า ผลโพลทุกครั้งต่อให้ไม่เป็นสื่อเลือกข้าง เป็นผลโพลทั่วไป ก็จะประเมินได้ว่ามีความแม่นยำเท่าไหร่ อย่างเช่นผลโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เขาก็เอาคะแนนที่เกิดขึ้นจริงกับคะแนนผลโพลแต่ละสำนักมา และเอามาเปรียบเทียบกันคำนวณทางสถิติ ก็จะรู้ว่าสำนักไหนแม่นกว่ากัน เท่ากับเป็นการให้ฟีคแบ็คกับผลโพลว่าสำนักไหนมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือสูงสุด ก็จะทำให้คนเลือกจะเชื่อสำนักโพลที่มีความแม่นยำสูงสุดในทางวิชาการ คือโพลที่สำรวจมาแล้วตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด นั้นคือมีความเป็นตัวแทนของประชากรตามหลักวิชาการ
ส่วนโพลลักษณะนี้จะสร้างผลกระทบหรือไม่นั้น นายอานนท์ กล่าวว่า มันก็อาจจะฮือฮา ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นกระแส อาจจะทำให้จุดอะไรบางอย่างติด ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือถ้ามองในแง่ร้าย อาจจะไปเรียกร้องผลประโยชน์ เงินทองก็ทำได้ มันก็มีโพลผีโม่แป้ง โพลผีบอกอยู่เยอะแยะ เอียงไปตามน้ำเงิน ตนไม่ได้กล่าวหาใคร แต่มันมีอยู่จริง ในระยะยาว ๆ อาจไม่ส่งผลดีต่อสังคม ถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ เพราะจะทำให้คนเราแตกแยกมากขึ้น
เมื่อถามว่าการทำแบบนี้จะทำให้จุดกระแสติดหรือไม่ ที่ต้องการให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง นายอานนท์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร ไม่ได้อยู่ที่โพล แต่โพลอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการจุดกระแส ถ้าผลออกมาไม่ตรงใจคนบางกลุ่ม อันนี้อาจจะนำมาจุดกระแสได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง