ลุ้นระทึกบทสรุป “สภาองค์กรผู้บริโภค” จดจัดตั้งผิดกม.หรือไม่

ลุ้นระทึกบทสรุป "สภาองค์กรผู้บริโภค" จดจัดตั้งผิดกม.หรือไม่

ตามติดมานานหลายเดือน กรณีการก่อกำเนิดสภาองค์กรผู้บริโภค หลังจากเมื่อเดือน พ.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน เป็นจำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นปตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

ประเด็นสำคัญ เงินจำนวน 350 ล้านบาท ก็คืองบประมาณแผ่นดิน และทางสภาองค์กรผู้บริโภค โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำรายชื่อองค์กรที่อ้างว่ามีการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัดจากทั่วประเทศ จำนวน 152 องค์กร เข้ายื่นเรื่องต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอเป็น ผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย ตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ต่อผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง

จากนั้นได้มีผู้ออกมาทักท้วง เรื่องความถูกต้องขององค์กรร่วมจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ให้ดำเนินการตรวจสอบ 151 องค์กรผู้บริโภค ที่มาแจ้งขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 ว่ามีความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ กฎหมายกำหนดหรือไม่

โดยครั้งนั้น นายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตุถึงช่วงเวลาดำเนินการจัดตั้ง หรือ ก่อตั้งองค์กรผู้บริโภค ว่าค่อนข้างไม่ปกติ ขณะที่การจะใช้สิทธิเข้าชื่อกัน แจ้งต่อทะเบียนกลางเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคนั้นๆ จะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ปรากฎว่ามีตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวมตัวไปยื่นต่อนายทะเบียนกลาง เพื่อขอเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นที่สงสัยว่าองค์กรผู้บริโภคต่างๆ เหล่านั้น ได้ดำเนินการหรือมีผลงานในการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าองค์กรต่างๆ เหล่านั้นมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จริงกันทุกองค์กร คงไม่มีปัญหาผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างแพร่หลายในขณะนี้ไ ด้ และอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีสภาองค์กรผู้บริโภคก็ยังได้ เว้นแต่มีความพยายามที่จะจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

รวมถึงเมื่อมีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้แล้ว กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินจากภาษีประชาชน มาอุดหนุนไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นทุนประเดิมให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนินการและให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรของผู้บริโภค อย่างทั่วถึง หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่การจัดทำแผนงบประมาณภาครัฐสนับสนุนในแต่ละปีต่อไป

ซึ่งนายศรีสุวรรณ ตั้งคำถามว่านี่อาจเป็นเหตุผลในความพยายามจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคขึ้นมา โดยการระดมสรรพกำลังโดยใช้เงินภาษีบาป(ภาษีเหล้า-บุหรี่) ไปใช้ในการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวหรือไม่ เพราะสุดท้ายผู้เป็นแกนนำอาจจะได้อานิสงค์ถูกเลือกเป็นประธานสภาฯ เป็นกรรมการสภาฯ ซึ่งสามารถใช้เงินภาษีของประชาชนได้อย่างเต็มที่

 

ทั้งนี้ต้องย้ำว่า ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องมีการรวมตัว องค์กรเครือข่าย อย่างน้อย 150 องค์กรขึ้นไป โดยมีหลัก การสำคัญคือต้องเป็นอิสระ ไม่ได้รับเงินจากหน่วยงานรัฐหรือองค์กรใด , รวมตัวกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค ผลงาน หลักฐาน เป็นที่ประจักษ์มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี และมีการขออนุญาตจดแจ้งกับนายทะเบียนจะส่วนกลาง หรือนายทะเบียนประจำจังหวัดก็ได้ และเมื่อได้รายชื่อครบแล้ว จึงจะสามารถรวมตัวกันยื่นจดแจ้งต่อ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งเป็น สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องเงื่อนเวลาที่ไม่สัมพันธ์ กับการจัดหารายชื่่อองค์กรของผู้บริโภคมารวมตัวกัน และนำมาสู่การร้องเรียนให้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง

 

ขณะที่ “เครือข่ายสื่อมวลชนปกป้องผลประโยชน์ชาติ” นำโดย นายชัชวาลย์ คำไท้ ประธานเครือข่าย ได้นำข้อมูลหลักฐานบางส่วน เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับการจัดตั้ง เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ในระดับท้องถิ่น มาส่งมอบให้กับนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ดำเนินการขยายผลตรวจสอบ เนื่องจากพบมีการแจ้งข้อมูลเท็จ เพื่อนำไปใช้ดำเนินการจดแจ้งจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ต่อนายทะเบียนจังหวัด ก่อนที่แกนนำเครือข่ายจะองค์กรเหล่านี้มารวมตัวเป็น 151 องค์กร แล้วยื่นจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องเครือข่ายองค์กรบางแห่งไม่ได้ดำเนินการจดแจ้งให้ถูกต้องกฎหมาย

 

ข่าวที่น่าสนใจ

จากนั้นเมื่อ วันที่ 1 มี.ค. 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อคุ้มครองเป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษา เพื่อระงับยับยั้งมิให้สภาองค์กรของผู้บริโภคนำเงินภาษีของประชาชน 350 ล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้มาใช้จ่าย เนื่องจากการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวอาจมิชอบด้วยกฎหมาย ตามที่สมาคมฯ ได้ยื่นฟ้องปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)ไว้ก่อนหน้า เรื่องการจดจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คึอ มีอย่างน้อย 3 องค์กรมีคุณลักษณะต้องห้ามตามนัย ม.5(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562

นายศรีสุวรรณ จรรยา เปิดเผยกับ TOPNEWS ว่า กรณีการตรวจสอบมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และถือเป็นสัญญาณที่ดีในการต่อสู้คดี เพราะนายทะเบียนกลาง ได้ทำคำให้การไปยังศาลปกครองแล้ว และศาลปกครองมีหนังสือมายังสมาคมฯ เพื่อให้ทำคำคัดค้าน คำให้การเพื่อส่งกลับไปศาลปกครองอีกครั้ง โดยหลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ฝ่ายตุลาการในการต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นเพิ่มเติม ก่อนนัดคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาเพื่อพิจารณาคดี ซึ่งคาดว่าหลังจากนั้นจะมีคำพิพากษ ไม่น่าจะเกินภายใน 6 เดือนจากนี้

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ยังให้ความเห็นด้วยว่า จากข้อมูลหลักฐาน ศาลปกครองคงไม่อยากเห็นการขับเคลื่อน หรือ การดำเนินการของสภาองค์กรดังกล่าว ที่อาจจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการนำเงินงบประมาณของแผ่นดิน 350 ล้านบาท ไปใช้ในทางที่อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะสภาองค์กรผู้บริโภค ยังไม่ถูกยอมรับทางกฎหมาย ซึ่ งขณะนี้ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างการทำคำคัดค้าน คำให้การและจะรีบนำส่งศาลปกครอง ภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้

ส่วนความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบ นายศรีสุวรรณ ระบุว่า คงอีกไม่นานศาลจะนัดพิจารณาคดี แล้วนำไปสู่การพิพากษาว่าจะเป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของสมาคมฯหรือไม่ ในเรื่องการขอให้สภาองค์กรผู้บริโภคยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพราะจากการตรวจสอบพบอย่างน้อย 3 องค์กร ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มีกิจกรรมหรือการกระทำ รวมไปถึงคณะกรรมการขององค์กรซึ่งต้องห้าม เช่น คณะกรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งตามกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาเป็นกรรมการในองค์กรด้านผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 3 องค์กรอยู่ในภาคเหนือ และทางปลัดสำนักนายกก็ยอมรับว่าทั้ง 3 องค์กรดังกล่าวนี้คุณสมบัติไม่ครบ ก่อนที่จะได้ทำหนังสือแจ้งมายังสมาคมฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เห็นว่าการเข้าชื่อกันจดจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคก็จะไม่ครบตามจำนวน หรือ 150 องค์กร และไม่สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบ ขออนุญาตจดจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคดังกล่าวได้ ประเด็นสำคัญ คือ การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการนำเงินงบประมาณแผ่นดินกว่า 350 ล้านบาทไปใช้ก็จะไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมฯติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด จนมาเป็นคดีในศาลปกครองเมื่อปี 2565 และศาลอาจเห็นข้อพิรุธบางประการ จึงเร่งให้ทางสมาคมฯทำคำคัดค้านคำให้การโดยเร็วเพื่อสู่การพิจารณาวินิจฉัยได้โดยเร็วเช่นกัน

ส่วนหลักฐานทั้งหมด ตนเองนำส่งให้ศาลปกครองหมดแล้ว และศาลเองก็รับรู้ในพยานหลักฐานทั้งหมด จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปตามคำฟ้องของสมาคมฯ เพราะหลักฐานชิ้นสำคัญเป็นหลักฐานที่ทางปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียืนยัน แม้ว่าตนเองในฐานะภาคประชาชนอยากให้องค์กรดังกล่าวเกิดขึ้น แ ละในรัฐธรรมนูญเองได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่ประเด็นปัญหา คือเมื่อมีการจัดตั้งแล้ว ก็อยากให้ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มิเช่นนั้นแล้วเราจะไปทำหน้าที่แทนประชาชน ในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายได้อย่างไร อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าแม้แต่ตัวองค์กรเพื่อผู้บริโภคยังทำผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ยืนยันว่าการร้องตรวจสอบการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวนี้ ไม่มีนัยยะใดๆ ที่ผ่านมาตนเองทำงานร้องเรียนตรวจสอบหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอด เพราะเป็นการใช้งบประมาณของแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ดังนั้นเราจึงต้องตรวจสอบเพื่อให้โปร่งใส และย้ำว่าการตรวจสอบของตนเอง ไม่ใช่เรื่องของการขัดแย้งหรือเรื่องของการดิสเครดิตใครทั้งสิ้น หากสามารถผ่านกระบวนการตรวจสอบนี้ไปได้ก็จะเกิดความสง่างามขององค์กร

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ตาม พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 6 มีลักษณะไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 5 ให้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านพร้อมทั้งหลักฐานต่อนายทะเบียนกลางได้

ส่วน มาตรา 5 ระบุว่า องค์กรของผู้บริโภคที่จะรวมตัวกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือถูกครอบงำ โดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพรรคการเมือง
(2) ไม่เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากบุคคล ตาม (๑) เว้นแต่เป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับตามพระราชบัญญัตินี้
(3) เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งสถานะความเป็นองค์กรตามมาตรา 6

ขณะที่มาตรา 6 องค์กรของผู้บริโภคใดที่มีลักษณะตามมาตรา 5 (1) และ (2) ประสงค์จะเข้าร่วมจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้แจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคไว้ต่อนายทะเบียน โดยจะแจ้งต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัดที่ผู้แจ้งมีภูมิลำเนาอยู่ก็ได้ องค์กรของผู้บริโภคที่จะแจ้งการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้ดำเนินการ เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันยื่นแจ้ง

การแจ้งให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่นายทะเบียนกลางกำหนด ซึ่งจะกำหนดให้แจ้ง โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ผู้แจ้งสามารถดำเนินการได้โดยสะดวกด้วยก็ได้ในการกำหนดแบบและวิธีการตามวรรคสาม ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและให้รับฟังความคิดเห็นขององค์กรของผู้บริโภคประกอบด้วย

เมื่อได้รับแจ้งและเห็นว่าเป็นองค์กรของผู้บริโภคที่มีลักษณะตามมาตรา 5 แล้ว ให้นายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัดผู้รับแจ้งออกหลักฐานการแจ้งไว้ให้แก่ผู้แจ้ง และ ให้นายทะเบียนกลางประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ ระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

‘อี้ แทนคุณ’ พาเหยื่อร้องปคม. ถูกหลอกข้ามแดนลวงเปิดบัญชีม้า หลังพบมีหมาย 450 คดี
คืนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568 รถไฟฟ้าบีทีเอส - สายสีทอง ขยายเวลาให้บริการถึงตี 2
“เพื่อไทย” จัดเต็ม ชาวเชียงใหม่เรือนหมื่นแห่ฟัง “ทักษิณ” สว.ก๊องมั่นใจ พ่อใหญ่แม้วช่วยหาเสียงชนะแน่
ชาวบ้านทรุดก้มกราบ “ทักษิณ” ขอปรึกษาปัญหาชีวิต การ์ดรีบยกตัวออก
เกมแล้ว! หนุ่มแต่งรถประดับไฟสี ธีมคริสต์มาส ขับเฉิดฉายทั่วถนน ปรับฉ่ำๆ 2 ข้อหา
แจ้ง 4 ข้อหาหนัก 'อส.เมากร่าง' ยิงสนั่นกลางร้านข้าวต้ม ดับ 2 ศพ เปิดวงจรปิดอีกมุม เห็นวินาทีก่อเหตุชัด
ตร.ไซเบอร์ ขยายผลตามรวบ "ผู้จัดหาบัญชีม้า" แก๊งลวง "ชาล็อต" กว่า 4 ล้านบาท
“บิ๊กอ้วน”ซัดปาก! พวกกระหายสงคราม “บิ๊กปู” คอนเฟิร์ม “ว้าแดง” เรียบร้อยดี
เวียงแหงโมเดล! เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World เครือซีพี ปักธง FIGHT หมอกควันชายแดนไทย-พม่า เรียนรู้-ชวนชุมชมร่วมลด PM 2.5
ทิพยประกันภัย จับมือ NT ลงนาม MOU พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุคดิจิทัล

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น