- วันก่อน 6 ก.ย. 2565 มีเอกสารของมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ส่งคำชี้แจงถึงวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีสอบถามความเห็น รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคแรก หลุดออกมาแบบตั้งใจเปิด แต่เนื้อหาก็ชัดเจนว่าเป็นบวกกับนายกฯ เพราะตีความสาระสำคัญชัดเจนว่า ประเด็นแรกระบุชัดว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีผลใช้บังคับ 6 เม.ย.2560 แต่ไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ประเด็นต่อมาเรื่องความเห็น ม.264 นั้น อ.มีชัยชี้แจงว่า ให้ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับตั้งแต่วันรัฐธรรมนูญใช้บังคับคือ 6 เม.ย.2560 และ ระยะเวลาตาม ม.158 วรรค 4 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นต้นไป ชัดๆตรงๆคือการตีความ 8 ปีของอ.มีชัยมองว่าการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯวันแรกของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ต้องนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันประกาศใช้ คือ เริ่ม 6 เม.ย.2560 เพราะฉะนั้นครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นวันที่ 5 เม.ย.2568
ขณะที่วานนี้ 7 ก.ย.2565 ก็เกิดกรณีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของพล.อ.ประยุทธ์ หลุดออกมาอีก มีการสรุปข้อแก้ต่างๆหลักๆมา 8 ข้อ แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญในการชี้แจงกับศาลรธน.ประกอบด้วย ประการแรกการนับการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีตั้งแต่ 2557 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นนายกฯ 2 ครั้ง ที่ครั้งแรกเป็นโดยอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และ รัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล เพราะฉะนั้นจะไปนับว่าเป็นนายกฯครั้งแรกไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลไปแล้ว นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย.2560 การนับจากเวลาดังกล่าวจึง “ขาดตอน” ส่วนการเป็นนายกฯหลัง 6 เม.ย.2560 ก็เป็นการดำรงค์ตำแหน่งนายกฯใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกฯ ครั้งแรกไปแล้ว
ประเด็นที่สอง การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ม. 158 วรรค 4 เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย โดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้ แถมเรื่องนี้ก็ไปสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีการ คณะพิเศษ ชุด 7 อรหันต์ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 17 ม.ค.2565 ประกอบด้วย 1.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย 2.นรชิต สิงหเสนี 3.ปกรณ์ นิลประพันธ์ 4.ประพันธ์ นัยโกวิท 5.มีชัย ฤชุพันธุ์ 6.อัชพร จารุจินดา และ7.อุดม รัฐอมฤต ที่ยืนกรานว่าการนับวาระ 8 ปี นายกฯตามรัฐธรรมนูญ ม.158 วรรค 4 ต้องนับการเป็นนายกฯที่มาตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ประการที่สามการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกไม่เกิน 8 ปีนั้นหมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญอื่น
อ่านคำชี้แจงของอ.มีชัยกับพล.อ.ประยุทธ์ที่หลุดออกมา แม้ไม่เหมือนกันซะทีเดียวไปเสียทั้งหมด แต่หลายครั้งก็อ้างเรื่องการตีความ 8 ปีนายกฯ ต้องนับจากวันที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันประกาศใช้ คือ 6 เม.ย.2560 ถ้ายึดเอาตามนี้เป็นหลักก็แสดงว่าการตีความกฎหมายของอ.มีชัยและฝ่ายกฎหมายของพล.อ.ประยุทธ์คงคิดว่า 8 ปีน่าจะไปจบที่ 5 เม.ย.2568 เพราะฉะนั้นบิ๊กตู่จะเหลือเวลาอีก 2 ปีเศษในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตรงนี้แหละที่เป็นเรื่องยากชวนปวดกบาล เพราะภาวะของบิ๊กตู่หากเหลือเวลาในการนั่งเป็นสร.1 แค่ 2 ปีจริงๆ ก็จะเข้าทำนอง “อยู่ต่อไม่ยาก แต่ไปต่อลำบาก” ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแบบนั้นพล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อในการจัดเอเปคและอยู่จัดการเลือกตั้งใหม่แน่นอน แต่อนาคตหากคิดจะไปต่อตรงนี้แหละจะลำบากหนักหน้าเลยทีเดียว เพราะการเหลือเวลาให้เป็นนายกฯแค่เพียง 2 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ดูจะสั้นเกินไป อย่าลืมว่าหนึ่งสมัยการเป็นนายกฯคือ 4 ปี การเหลือเวลาแค่ 2 ปีคือครึ่งเทอมเท่านั้น เรื่องนี้จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อลำบากในทางการเมือง เพราะเหลือเวลาน้อยเกินไปในการบริหารประเทศ หากลงเลือกตั้งรอบหน้าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นให้พรรคฝ่ายตรงข้ามเอาไปโจมตีแน่ๆ โดยเฉพาะใครจะเลือกผู้นำที่เหลือเวลาเป็นนายกฯได้แค่ 2 ปีมาบริหารประเทศ
เรื่องอายุการทำงาน 2 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่เรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์จะไปอยู่กับพรรคไหน จะให้ใครชูเป็นแคนดิเดตนายกฯในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองอันนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ถามว่าไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐบ้านเก่าจะโอเคไหม ก็ต้องบอกว่า ณ ตอนนี้ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด อย่างน้อยพรรคพลังประชารัฐก็น่าจะได้ส.ส.เกิน 25 คน ตามเงื่อนไขพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯได้แน่นอน แต่รอบหน้าพล.อ.ประยุทธ์จะไม่ใช้ชื่อเดียวที่ถูกเสนอ เพราะน่าจะมีชื่อแคนดิเดตนายกฯเบอร์ 2 เบอร์ 3 ของพรรคติดมาด้วยแน่ อย่างน้อยชื่อของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็ต้องมีแน่นอน และอาจรวมถึงชื่ออื่นๆ อย่าง “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. ปัญหาของพรรคพลังประชารัฐอยู่ที่คะแนนนิยมที่ลดวูบ ศรัทธาเสื่อมทรุดลงไปมาก หากพล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้คะแนนท่วมท้นแบบการเลือกตั้งรอบที่แล้วซึ่งคงเป็นเรื่องยากจริงๆ ถามว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ไปอยู่พรรคอื่นไปอาศัยบ้านหลังใหม่จะมีลุ้นหรือไม่ ตอนนี้ก็มีพรรครวมไทยสร้างชาติของ “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั่งเป็นหัวรอท่าอยู่ ถามว่าไปได้ไหมตอบเลยว่าพล.อ.ประยุทธ์ไปได้แน่นอน แต่ถามว่าพรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ส.ส.ถึง 25 คน ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันนี้ต้องลุ้นหนักเพราะไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้ เผลอๆตัวเลือกดีๆ อย่างพล.อ.ประยุทธ์อาจจะกลายเป็นรายการ “เสียของ” เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติได้ส.ส.ไม่ถึงเกณฑ์ 25 คน ไอ้ครั้นจะให้ทั้ง 2 พรรคเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เหมือนกันก็ทำไม่ได้เพราะกฎหมายห้ามไว้ ประเด็นนี้ก็ชวนปวดกบาลเหมือนกันหากพล.อ.ประยุทธ์คิดจะไปต่อทางการเมือง
จับสัญญาณหลังคำชี้แจงของอ.มีชัยและพล.อ.ประยุทธ์ที่หลุดออกมา และเห็นตรงกันว่า 8 ปีนายกฯน่าจะเริ่มต้นนับจาก 6 เม.ย.2560 เพราะฉะนั้นเหลือเวลาไปต่อของบิ๊กตู่แค่ 2 ปี ประเด็นนี้เชื่อว่าพวก “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” อ่านเกมส์ออกเพราะเป็นประเภท “นกรู้ อยู่เป็น” เห็นบิ๊กตู่มีแววไปต่อน้อย หลายคนเลยขยับหาทางออกให้ตัวเองกันยกใหญ่ ด้านหนึ่งปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกฯ ก็หนีบปรพล อดิเรกสาร อดีต ส.ส.สระบุรี บุตรชาย ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติก่อนไปยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย ฝากตัวไว้กับ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 2 กุมาร อีกด้านวานนี้ในสภาปรากฏว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 4 ร่าง ไม่มีร่างใดได้คะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งหรือ 364 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 727 คนเลย ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า ร่างที่ 4 ซึ่งเป็นร่างแก้ไขมาตรา 272 เกี่ยวกับการตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกฯ ที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชนเข้าเชื่อเสนอ ผลการลงคะแนน ปรากฎว่า มีเสียงเห็นชอบจากส.ส. 333 คน ส.ว. 23 คน ไม่เห็นชอบ ส.ส.102 คน ส.ว. 151 คน งดออกเสียง ส.ส. 8 คน ส.ว. 45 คน โดยส.ส.ที่คว่ำร่างนี้ส่วนใหญ่มาจาก พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง และส.ส.พรรคเล็กส่วนใหญ่ ที่ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคฝ่ายค้านทุกพรรคลงมติรับหลักการทั้ง 4 ร่าง
แปลความได้ว่าประเด็นเปิดช่องให้ส.ว.ลงมติเลือก “นายกฯคนนอก” ได้นั้น 2 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยแสดงเจตนารมย์ชัดเจนว่าไม่เอาด้วยเทเรื่องนี้ไม่เอาใจ 3 ป.แล้ว มุมหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณประกาศตัวเป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนรักษาแนวทางประชาธิปไตย ส่วนจะบริสุทธิ์ใจจริงหรือต้องการตีกินสร้างภาพรักษาคะแนนนิยม เพราะรู้ว่ายังไงเสียงในแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่พออยู่แล้วก็ว่ากันไป อีกมุมก็ส่งสัญญาณชัดว่าไม่เอาออปชั่น “นายกฯคนนอก” ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ประวิตรหรือพล.อ.ประยุทธ์ ตรงนี้ไม่รู้มั่นใจว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อแค่ 2 ปี หรือ การเลือกตั้งงวดเข้ามาจึงต้องสร้างภาพแต่งตัวหล่อไว้ก่อน แต่ทั้งเรื่องปองพลทั้งเรื่องคว่ำอำนาจส.ว.เลือกนายกฯคนนอก ออกมาในช่วงเอกสารอ.มีชัยกับบิ๊กตู่หลุด และปักธงตีความ 8 ปี เริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 พอดิบพอดี เริ่มเห็นรอยร้าวในเรือแป๊ะชัดเจน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อแค่ 2 ปีจริงๆ ร่องรอยแตกแยกคงเห็นชัดเจนขึ้น อีกไม่นานคงได้รู้กัน นับถอยหลังพล.อ.ประยุทธ์พร้อมๆไปกับนับถอยหลังรัฐนาวาเรือแป๊ะ
////////////////////////