ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 ที่สำนักงานโครงการชลประทานศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำของเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 2 แห่ง (เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา) และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 16 แห่ง ประจำวันที่ 9 กันยายน 2565 ปรากฏว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในจังหวัดศรีสะเกษทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและลุ่มน้ำต่างๆพบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 16 แห่ง เก็บกักเกิน 100% จำนวน 10 แห่ง ยังคงมีความปลอดภัยและอยู่ในศักยภาพอ่างเก็บน้ำที่จะรองรับน้ำได้ และมีการพร่องน้ำไปด้านท้ายน้ำและโดยไม่เกิดน้ำท่วมขังแต่อย่างใด
นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า ลุ่มน้ำต่างๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ยังคงอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง โดยมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใดลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี / M ต่างๆ ยังคงอยู่ในตลิ่ง แต่มีอัตราการเพิ่มขึ้น และ M7 อำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานีมีความใกล้เคียงกับกับตลิ่ง ทั้งนี้มีความเสี่ยงอยู่ที่บริเวณแม่น้ำมูลเนื่องจากเป็นจุดศูนย์รวมของน้ำจากจังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์และเข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบกับด้านท้ายเขื่อนหัวนาซึ่งอยู่ใกล้จังหวัดอุบลราชธานีมีแม่น้ำชีเข้ามาบรรจบแม่น้ำมูลทำให้การระบายน้ำในแม่น้ำมูลช้าลง ดังนั้นอาจจะมีน้ำท่วมขัง จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณแม่น้ำมูลทั้ง 2 ฝั่ง ขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณสองฝั่งแม่น้ำมูลอย่างใกล้ชิดด้วย เพราะว่าอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้.
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ